การจัดการรณรงค์วัคซีนขนาดใหญ่

ในภาพรวม ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในวงกว้าง เนื่องจากได้รับความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กระทรวงต่างๆ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน โดยมีการจัดบริการทั้งในสถานบริการปกติ และการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีน ต่างๆ โดยมอบหมายและกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้แต่ละจังหวัดบริหารจัดการวัคซีน ในที่นี้จะกล่าวถึงการพัฒนารูปแบบการรณรงค์วัคซีนขนาดใหญ่ 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ และ Hackvax

การรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิดในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการรณรงค์ที่ใหญ่ที่สุด ทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งมีความท้าทายเป็นอย่างมากเนื่องจากสถานการณ์มีพลวัตสูง มีการเปลี่ยนแปลงด้านระบาดวิทยาทั้งเรื่องของสายพันธุ์ ข้อมูลของวัคซีนชนิดใหม่ที่ออกมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความท้าทายในเรื่องของการบริหารจัดการวัคซีนที่มีวัคซีนจำนวนไม่เพียงพอ การสื่อสารความเสี่ยงและการจัดการ infodemic

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ (Central Vaccination Center: Bang Sue)

ความเป็นมา

กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ให้แก่ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) ความรุนแรงของปัญหาอยู่ในระดับสูง (Severity) กล่าวคือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 ก่อให้เกิดการติดเชื้อ เจ็บป่วยและการสูญเสียเป็นจำนวนมากจัดเป็นวิกฤตการณ์ และส่งผลกระทบไปทุกด้านและต่อทุกภาคส่วน (2) ปัญหามีขนาดใหญ่มาก (Scale) ทั้งนี้เพราะกลุ่มเป้าหมายซึ่งคือประชากรในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีจำนวนถึง 7.7 ล้านคน และที่ผ่านมานั้นพบว่า การดูแลทางด้านสาธารณสุขให้กับประชากรกลุ่มนี้จะเป็นไปในลักษณะที่ประชาชนต้องพึ่งตนเอง ใช้บริการภาคเอกชนเป็นหลัก และไม่มีเจ้าภาพเชิงระบบที่ชัดเจนในการดูแลเหมือนประชาชนในต่างจังหวัด ซึ่งระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญ ตลอดจนการมีประชากรแฝงอีก 2.9 ล้านคน รวมเป็นจำนวนประชากรถึง10.6 ล้านคน ซึ่งทำให้ปัญหายิ่งขยายขนาดและความซับซ้อนมากขึ้น (3) ความรีบเร่งรวดเร็วของวิกฤตการณ์ (Speed) นี้ตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างทันทีทันใด เพื่อลดความสูญเสียให้ได้มากที่สุด (4) ทักษะต่างๆ ที่ต้องการในการแก้ปัญหา (Skills) การดำเนินการศูนย์วัคซีนขนาดใหญ่นั้น ต้องใช้ทักษะที่จำเป็นและหลากหลายมาช่วยในการดำเนินการให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด

ลักษณะการดำเนินงานของศูนย์

เป็นรูปแบบการบริหารงานแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน มีองค์กรต่างๆ มาร่วมสนับสนุน 251 องค์กร โดยมีรูปแบบความร่วมมือตั้งแต่ระดับการให้ข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาหารือ การเข้ามามีบทบาท และให้ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมประเมินและติดตามผล ร่วมสนับสนุนงบประมาณ ตลอดจนร่วมแก้ไขปัญหา

ข้อมูลเบื้องต้น

ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ มีพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 15,000 ตารางเมตร และสามารถขยายได้ถึง 20,000 ตารางเมตร โดยแบ่งการจัดสรรพื้นที่ทั้งหมดเป็น 2 ส่วน คือ บริเวณชั้น 1 ประกอบไปด้วย 4 โซน ได้แก่ 1) จุดคัดกรอง 2) จุดลงทะเบียน 3) จุดฉีดวัคซีน และ 4) จุดสังเกตอาการและปฐมพยาบาล ไม่ว่าประชาชนจะเดินเข้าประตูใด จะพบการจัดแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซน และมีขั้นตอนแบบเดียวกันทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังมีการดูแลเรื่องความสะอาดและการป้องกันควบคุมโรค มีการแยกขยะติดเชื้อ พร้อมทั้งมีบริษัทขยะรับไปเผาทำลาย และมีการดูแลรักษาความสะอาดโดยมีแม่บ้านประจำจุด และมีหุ่นยนต์ UV คอยฆ่าเชื้อตามจุดต่าง ๆ 

การจัดระบบบริการ

การจัดระบบบริการเริ่มตั้งแต่การจองคิว โดยแบ่งการจองคิวเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ คือ 1) จองผ่านองค์กร โดยองค์กรต่าง ๆ สามารถทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข จากนั้นรายชื่อจะถูกส่งไปยังกรมการแพทย์ เพื่อทำการลงทะเบียนให้ล่วงหน้า และ 2) การจองคิวผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ในเครือข่ายต่าง ๆ (DTAC AIS TRUE และ NT) จะเป็นการจองสำหรับวัคซีนเข็มที่ 1 และ 3 ส่วนในกรณี walk in มีการจองเพียงช่วงเดียวในเดือนกรกฎาคม และจากนั้นไม่มีกรณี walk in อีกเลย (ในทางปฏิบัติ หากมีประชาชน walk in เข้ามารับบริการทางศูนย์ฯ ไม่ได้ปฏิเสธ แต่จะให้ความสำคัญกับผู้ที่ลงทะเบียนมาก่อน) 3.1.2.3 การบริหารจัดการวัคซีน

ในแต่ละวันศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อให้บริการแก่ประชาชนเฉลี่ยวันละ 16,420โดส โดยมีกระบวนการจัดการแบบระบบ Refill ซึ่งในวันแรกกรมควบคุมโรคจัดส่งวัคซีนมาให้ก่อนจำนวน 20,000 โดส และหลังจากนั้นเมื่อมีการใช้วัคซีนไปจำนวนเท่าใด เจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ จะประสานงานแจ้งยอดกับกรมควบคุมโรค เพื่อให้จัดส่งวัคซีนมาให้ทุกวันตามปริมาณที่ใช้ไป

การจัดการบุคลากร

ในระยะแรกมีทั้งบุคลากรทางการแพทย์และไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ (แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร) มีสัดส่วน 1 ใน 3 ของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด โดยมีการจัดกำลังคนจากสถาบันโรคผิวหนัง โรงพยาบาล และสถาบันในสังกัดกรมการแพทย์ สถาบันพระบรมราชชนก และบุคลากรทางการแพทย์จิตอาสาจากแหล่งอื่น ๆ ส่วนอื่นเป็นบุคลากรฝ่ายสนับสนุน และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทหาร ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ และจิตอาสา ภาคประชาชน มีบุคลากรมาช่วยปฏิบัติงานวันละประมาณ 400-600 คน โดยที่ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อมีการจัดรถรับส่ง จากสถาบันโรคผิวหนังมาที่ศูนย์ฯ และจัดหาอาหาร พร้อมน้ำดื่ม วันละ 2 มื้อ (วันละ 800 – 1,200 กล่อง) ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการจัดตารางว่าแต่ละวันต้องการรับบริจาคจำนวนเท่าใด และอาหารทั้งหมด เป็นอาหารที่จัดซื้อประมาณร้อยละ 50 และมาจากการบริจาคของหน่วยงานต่าง ๆ อีกร้อยละ 50  

ผลการดำเนินงาน

ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนโดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม 2564 ถึง 8 พฤศจิกายน 2564 เป็นจำนวน 169 วัน มียอดการฉีดวัคซีนสะสม 2,775,064 โดส โดยเฉลี่ยมีการฉีดวัคซีน 16,420 โดสต่อวัน สามารถจำแนกการฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,479,300 โดส คิดเป็นร้อยละ 53 เข็มที่ 2 จำนวน 1,074,156 โดส คิดเป็นร้อยละ 39 และเข็มที่ 3 จำนวน 221,608 โดส คิดเป็นร้อยละ 8 หากพิจารณาตามชนิดของวัคซีนพบว่ามีการฉีดวัคซีน AstraZeneca จำนวน 2,285,978 โดส Sinovac 470,104 โดส และ Pfizer ในกลุ่มนักเรียน 18,982 โดส

ความพึงพอใจของผู้รับบริการ

ศูนย์วัคซีนกลางบางซื่อได้ดำเนินการสำรวจความพึงพอใจของผู้มารับบริการฉีดวัคซีนของผู้รับบริการ เพื่อนำไปสู่การปรับรุงการบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ด้านความสะดวกในการให้บริการ ประกอบด้วย การประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำ ให้ข้อมูลชัดเจนขั้นตอนการให้บริการเป็นไปตามลำดับ และมีความรวดเร็วไม่ซับซ้อนยุ่งยาก 2. ด้านบุคลากร และ 3. ด้านอาคารสถานที่ และการอำนวยความสะดวก โดยมีการกำหนดความพึงพอใจเป็นระดับ มาก ปานกลาง และน้อย โดยดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ที่ได้รับบริการฉีดวัคซีนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ณ จุดสังเกตอาการหลังได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 300 คน ผลการสำรวจพบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมาก ร้อยละ 87.30 พึงพอใจปานกลาง ร้อยละ 12.00 และพึงพอใจน้อย ร้อยละ 0.73 โดยประเด็นที่ผู้รับบริการพึงพอใจมากเป็นอันดับ 1 คือ การให้บริการมีความสะดวกรวดเร็วไม่ซับซ้อนยุ่งยาก พึงพอใจมากเป็นอันดับ 2คือ มีการนัดหมายที่ชัดเจน และ พึงพอใจมากเป็นอันดับ 3 คือ การให้บริการเป็นไปตามลำดับก่อน-หลังเป็นขั้นตอน ไม่ลัดคิว และ อาคารสถานที่มีป้ายและเครื่องหมายคำแนะนำจุดต่าง ๆ ชัดเจน 

แนวทางการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย

แนวทางการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย ประกอบไปด้วย 1. การวิจัยและพัฒนา 2. การถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3. การจัดซื้อจัดหาวัคซีน

การวิจัยเพื่อปรับสูตร ตารางการให้วัคซีน และวิธีการให้วัคซีน

รอข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวิจัยวัคซีนสูตรไขว้

การวัดประสิทธิผลของวัคซีนในสถานการณ์จริง

ในสถานการณ์ปกติทั่วไป ประเทศไทยมีการติดตามประสิทธิผลวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยจะออกแบบการศึกษาแบบไปข้างหน้าในภาคสนาม เพื่อประเมินประสิทธิผล ซึ่งการประเมินเหล่านี้ดำเนินการและวางแผนอย่างเป็นระบบได้ง่ายเนื่องจากเป็นการดำเนินการตามระบบปกติที่บริบทมีความคงตัว ซึ่งต่างจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่มีพลวัตสูง

การพัฒนานโยบายการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย

กรอบเวลาแสดงภาพรวมของการระบาดและการดำเนินงานสำคัญในระดับนานาชาติและในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 มีรายงานการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและต่อมามีการประชุม IHR Emergency Committee ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการระบาดของโควิด 19 เป็น Public Health Emergency of International Concerns (PHEIC) ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563