แนวทางการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย

1. แผนการดำเนินงานในเบื้องต้นและการวางกรอบเวลา 

แผนการขับเคลื่อนการเข้าถึงวัคซีนซึ่งต่อยอดจาก Blueprint ได้วางกรอบเวลา โดยใช้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนในระดับโลกเป็นแกนหลัก (กรอบสีฟ้า) สำหรับในประเทศไทยวางเป้าหมายระยะ 12-18 เดือน (กรอบสีเหลือง) และเป้าหมายระยะ 3 ปี (กรอบสีม่วง) 

1.1 การพัฒนาวัคซีนในต่างประเทศ (กรอบสีฟ้า) เป็นการคาดการณ์ระยะเวลาที่จะมีวัคซีนออกสู่ตลาดในระดับโลก หากวัคซีนโควิด 19 พัฒนาสำเร็จ ในระยะเวลา 1+ ปี (ตามเส้นประสีม่วง) 

1.2 เป้าหมายประเทศไทย ระยะ 12-18 เดือน มีแนวทาง 2 ส่วน ได้แก่ (1) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี (กรอบสีเหลือง) ซึ่งจะต้องมีการเจรจาล่วงหน้าและต้องเตรียมความพร้อมการผลิตเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปคู่ขนานกัน จึงจะสามารถมีวัคซีนใช้พร้อมกับประเทศที่ได้ใช้วัคซีนเป็นประเทศแรก ๆ (วัคซีน A) (2) การจัดซื้อวัคซีน ก็ต้องเร่งดำเนินการและเลือกวัคซีนหลายชนิดใน portfolio เพื่อลดความเสี่ยงและให้ได้วัคซีนมาใช้ตามแผน (วัคซีน B, C) 

1.3 เป้าหมายประเทศไทยในระยะ 3 ปี โดยการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองในประเทศ ซึ่ง best scenario คือได้วัคซีนมาใช้พร้อมประเทศอื่น (วัคซีน ก สีแดง) expected scenario ได้วัคซีนในระยะ 3 ปี (วัคซีน ข ค ง) และอาจขายได้ด้วย 

2. การวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ 

เป็นเป้าหมายระยะยาว (3 ปีขึ้นไป) ที่ต้องการสร้างขีดความสามารถของประเทศในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมีวัคซีนอยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนามากกว่า 20 ชนิด ใน 7 เทคโนโลยีการผลิต ได้แก่ mRNA, DNA, Viral-like particle (VLP), Protein Subunit, Viral vector, Inactivated และ Live attenuated 

ปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด 19 ที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 

2.1 วัคซีนโควิด 19 ชนิด NDV-HXP-S (วัคซีน HXP-GPOVAC) : องค์การเภสัชกรรมได้เริ่มต้นโครงการวิจัยพัฒนาวัคซีน HXP–GPOVac ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยการสนับสนุนจากองค์กร PATH ที่ได้ส่งมอบหัวเชื้อวัคซีนต้นแบบซึ่งพัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่เมาท์ไซนาย (The Icahn School of Medicine at Mount Sinai) และมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ออสติน (University of Texas at Austin) ประเทศสหรัฐอเมริกา มาทำการผลิตที่โรงงานผลิต (วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การเภสัชกรรม ที่ ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี ซึ่งได้มีการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตและสามารถผลิตวัคซีน HXP–GPOVac จากนวัตกรรมเชื้อตายชนิดลูกผสม (Inactivated chimeric vaccine) ผลิตด้วยเทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก (Egg-based) ซึ่งเป็นวิธีการผสมผสานโดยการใช้เชื้อไวรัสนิวคาสเซิล (Newcastle disease virus, NDV) ร่วมกับใช้เทคโนโลยีเฮกซะโปรเพิ่มความคงสภาพของโปรตีนส่วนหนาม ได้เป็นไวรัสลูกผสม NDV-HXP-S (HXP-GPOVac) มาใช้ในการกระตุ้นร่างกายให้สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคโควิด 19 ผลวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ผลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1/2 ในอาสาสมัคร 460 คน โดยเริ่มฉีดอาสาสมัครครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2564 ผลการศึกษาพบว่า วัคซีนทุกขนาด (1, 3 และ 10 ไมโครกรัม) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี โดยวัคซีน HXP-GPOVac ขนาด 10 ไมโครกรัม สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงสุด และมีความปลอดภัย 

องค์การเภสัชกรรมเริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่จังหวัดนครพนม โดยใช้วัคซีน HXP-GPOVac ขนาด 10 ไมโครกรัม เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นในอาสาสมัครจำนวน 4,000 คน ที่เคยได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ชนิดอื่นที่ได้รับทะเบียนตำรับวัคซีนแล้วจำนวน 2 เข็ม ซึ่งจะติดตามความปลอดภัย และผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันนาน 1 ปี เมื่อได้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยทางคลินิกครบ 3 ระยะ จะยื่นข้อมูลเพื่อขึ้นทะเบียนตำรับ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ภายปี 2566 และจะสามารถผลิตวัคซีน HXP–GPOVac ออกสู่ตลาดได้ ภายหลังได้รับทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 2-5 ล้านโดสต่อปี สำหรับการพัฒนาการผลิตและการศึกษาวิจัยทางคลินิกนี้ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติและหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กองทุนสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม องค์การเภสัชกรรม นอกจากนี้ยังได้รับงบประมาณส่วนหนึ่งจากหน่วยงานในต่างประเทศ 

2.2 วัคซีนโควิด 19 ชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (วัคซีน ChulaCov19) : ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาร่วมกับแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยี mRNA ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อ เมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมนี้เข้าไป ก็จะสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกาย 

ผลการทดสอบในลิง และหนู พบว่าวัคซีนสามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครเป็นครั้งแรกในวันที่ 14 มิถุนายน 2564 นับเป็นวัคซีนป้องกันโรค COVID-19 ชนิดแรกที่ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอที่ทำการศึกษาในคนไทย และมีความก้าวหน้าในการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 2 ต่อมาได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัท ไบโอเนท เอเชีย จำกัด ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการทดสอบในมนุษย์ในระยะที่ 1 โดยใช้วัคซีนที่ผลิตเองในประเทศไทย จุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19 คือ สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศา) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศา) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน 

2.3 วัคซีนโควิด 19 ชนิด Protein Subunit (วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax) : บริษัท ใบยาไฟโตฟาร์ม จำกัด ใช้ใบยาสูบพันธุ์ที่มีนิโคตินต่ำในการผลิตวัคซีน ดำเนินการวิจัยพัฒนาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน วัคซีนต้นแบบรุ่นแรก ได้รับการพัฒนาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และการศึกษาความปลอดภัยในสัตว์ทดลองทั้งหมดมากกว่า 10 การศึกษา มีการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1 ในเดือนกันยายน 2564 ดำเนินการที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย โดยทดสอบวัคซีน 3 ขนาด ได้แก่ 10, 50 และ 100 ไมโครกรัม เพื่อหาขนาดของวัคซีนที่เหมาะสมในการกระตุ้นภูมิ รวมถึงมีความปลอดภัยเพื่อนำข้อมูลไปใช้กับวัคซีนรุ่นต่อไป ผลการทดสอบเบื้องต้นพบว่า วัคซีนมีความปลอดภัยดีอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับเมื่อทดสอบกับอาสาสมัคร แต่ผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันยังไม่น่าพอใจ จึงมีการพัฒนาวัคซีนรุ่นที่ 2 (วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax 2) โดยปรับสารเสริมฤทธิ์เพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น และได้ทำการทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 กลุ่มที่ 1 ฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน (naïve) จำนวน 12 คน ในเดือน มีนาคม พ.ศ. 2565 พบว่าอาสาสมัครมีอาการไม่พึงประสงค์ชนิดเฉพาะที่ (Local reaction) ค่อนข้างมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากขนาดของ 3M-052-AF (Adjuvant) จึงลดขนาด 3M-052-AF จาก 5 mcg เหลือ 2.5 mcg ในการศึกษากลุ่มที่ 2 ขณะนี้ได้ฉีดวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือติดเชื้อมาก่อน (naïve) เข็มแรก จำนวน 4 คน เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2566 ณ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย รอฉีดเข็มที่สองในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 

หากพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัย จะดำเนินการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 ในชื่อโครงการ “Baiya-Vax2-P2a-Boost” ซึ่งตามแผนคาดการณ์ว่าจะดำเนินโครงการวิจัยในระยะที่ 2 ได้ ภายในเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2566 บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม เป็น Biotech Start up ที่ spin off มาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้บริษัท holding company “CU Enterprise” ทำให้บริษัทฯ มีความคล่องตัวและยืดหยุ่นในการดำเนินงาน โรงงานของบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ได้ดำเนินการออกแบบก่อสร้างตั้งแต่ตุลาคม 2563 และได้รับใบอนุญาตการผลิตเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งสถานที่ผลิตได้รับการออกแบบตามแนวทางมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practices; GMPs) และจะเป็นสถานที่ผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุโดยใช้พืชเป็นแหล่งผลิตสำหรับมนุษย์แห่งแรกในเอเซีย ตั้งอยู่ที่อาคารจุฬาพัฒน์ 14 ชั้น 11 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่ 1,000 ตารางเมตร กำลังการผลิต 1-5 ล้านโดสต่อเดือน และสามารถปรับไปใช้ผลิตยาชีววัตถุอื่น ๆ ของบริษัท ใบยา เช่น ยามะเร็ง monoclonal antibody, antivenom, monoclonal antibodies for rabies สำหรับการผลิตส่วนปลายน้ำมีความร่วมมือกับหน่วยผลิตอื่นในประเทศ โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีของใบยาในการทำวัคซีนให้บริสุทธิ์ที่บริษัท คินเจน ไบโอเทค จำกัด และดำเนินการผสมและบรรจุขวดที่สถานเสาวภา สภากาชาดไทย 

2.4 วัคซีนต้นแบบโควิด 19 โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาวัคซีนโควิด 19 แบบพ่นจมูก ชนิด Adenovirus-based และ Influenza-based ซึ่งผ่านการทดสอบการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในหนูทดลองเรียบร้อยแล้ว พบว่ามีประสิทธิภาพต่อการป้องกันโรคและมีความปลอดภัยในสัตว์ทดลอง ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับกระบวนการผลิตใน GMP และเตรียมการศึกษาความเป็นพิษ (Toxicity) การกระจายตัวทางชีวภาพ (Biodistribution) เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญนำสู่ขั้นตอนการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 1 

2.5 วัคซีนโควิด 19 ชนิด DNA (วัคซีน COVIGEN) โดย บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด เป็นการวิจัยพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ (บริษัทฯ เป็นเจ้าของ IP) และสามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ จากการทดสอบในสัตว์ทดลองพบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพดี ต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2564 บริษัทฯ ได้มีการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ในประเทศออสเตรเลีย ขณะเดียวกันก็ได้ยื่นขออนุมัติเพื่อทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ในประเทศไทยกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา อย่างไรก็ตาม พบว่าการดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ชนิด DNA มีความล่าช้ากว่าวัคซีนต้นแบบชนิดอื่น ๆ และเพื่อให้สามารถพัฒนาวัคซีนที่ตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด 19 ได้อย่างทันการณ์ บริษัทฯ จึงมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงาน โดยได้ยุติโครงการการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิด DNA (วัคซีน COVIGEN) และได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA ซึ่งสามารถผลิตได้เร็วกว่าและจำนวนมากกว่าวัคซีนชนิด DNA และถือว่าเป็นการช่วยสนับสนุนนโยบายของประเทศในด้านความมั่นคงทางวัคซีน 

นอกจากการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนแล้ว ประเทศไทยได้เตรียมวางแผนเชื่อมโยงการวิจัยและพัฒนากับการผลิตวัคซีนตั้งแต่ในระยะต้น โดย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่าย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ศึกษาดูงานหน่วยงานผู้ผลิต ระหว่างวันที่ 12-14 พฤษภาคม 2563 เพื่อรับทราบขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนของประเทศ ในแต่ละรูปแบบเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ในการผลิตวัคซีน ได้แก่ DNA vaccine, Adenoviral vector vaccine และ Inactivated vaccine รวมถึงประเด็นที่ต้องการให้สนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนสำหรับใช้ได้ทันตามเป้าหมายที่กำหนด โดยมีหน่วยงานที่มีความสนใจที่จะให้การสนับสนุน และร่วมผลิตวัคซีนจากวัคซีนที่วิจัยและพัฒนาในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหา COVID 19 จำนวน 4 หน่วยงาน ได้แก่ 1) บริษัทไบโอเนท-เอเชีย จำกัด (BNA) 2) โครงการจัดตั้งศูนย์เสริมสร้างอุตสาหกรรมชีวภาพจากนวัตกรรม (MU-Bio) 3) โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ (NBF) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) วิทยาเขตบางขุนเทียน 4) โรงงานผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก องค์การเภสัชกรรม (GPO) 

ผลการศึกษาความพร้อมด้านการผลิตวัคซีน COVID 19 ทั้ง 4 หน่วยงาน พบว่ามี 3 หน่วยงานที่มีศักยภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ได้ ขณะนั้น BNA ได้รับอนุญาตจาก อย. ให้ผลิตวัคซีนโควิดได้ และสามารถผลิตวัคซีนรูปแบบ DNA ได้ และพร้อมรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนที่ประสบความสำเร็จจากสถาบันวิจัยอื่น ยกเว้นวัคซีนเชื้อตาย และ NBF มีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยี สำหรับ Adenoviral vector และสามารถรับเทคโนโลยีอื่นได้ทุกชนิด ยกเว้นเชื้อตาย แต่เป็นการผลิตในระดับกึ่งอุตสาหกรรม ส่วน GPO มีความพร้อมของทีมงาน และ Facilities สำหรับการผสมและแบ่งบรรจุ เพื่อผลิตวัคซีนให้ได้จำนวนมากตามความต้องการของประเทศ แม้ผลการศึกษาจะแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมระดับหนึ่ง ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อใช้เองในประเทศ แต่ในระยะแรกอาจจำเป็นต้องนำวัคซีนชนิดเข้มข้น (Final bulk) เข้ามาแบ่งบรรจุก่อน อีกทั้งในการประเมินกำลังการผลิตวัคซีนทั่วโลก พบว่า filling and packaging เป็นขั้นตอนหนึ่งที่อาจจะเป็นคอขวดที่จะทำให้อัตราการผลิตวัคซีนทั่วโลกช้ากว่ากำหนด สถาบันวัคซีนแห่งชาติจึงได้มีการวางแผนการดำเนินการเพื่อรองรับขีดความสามารถด้าน filling and packaging โดยมีผู้ผลิตที่มีความพร้อมที่จะช่วยประเทศในการแบ่งบรรจุวัคซีนโควิด 19 ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม บริษัท องค์การเภสัชกรรม–เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ จำกัด และสถานเสาวภา สภากาชาดไทย

3. การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี

กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสวงหาความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนในหลายประเทศ อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ไต้หวัน สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศอื่นๆ มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 ทั้งในประเด็นการพัฒนาวัคซีน (R&D Collaboration) และการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) โดยประสบความสำเร็จในการเจรจาขอรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน“AZD1222” ซึ่งเป็นวัคซีนชนิด Viral vector ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด โดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด (มหาชน) มีบทบาทสำคัญในการเจรจาจนได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ได้มีความร่วมมือพัฒนาวัคซีนชนิด Viral vector กับมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด โดยมีการตกลงในหลักการเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติ “No profit, no loss” และแสวงหาผู้ผลิตวัคซีนจากทั่วโลกเพื่อขยายกำลังการผลิตให้เพียงพอต่อประชาคมโลก โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ตัดสินใจเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด (SBS) เป็นผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าว หลังจากได้เข้าประเมินขีดความสามารถโรงงานของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด และพบว่า SBS มีกำลังการผลิตวัคซีนมากเพียงพอที่จะเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค สามารถรองรับเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด Viral vector ได้ และโรงงานได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์การผลิตที่ดีและเป็นปัจจุบัน (cGMP) รวมถึงการรับรองระบบคุณภาพ และได้รับใบอนุญาตการผลิตจาก อย.  บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด จึงเริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนเชิงลึกให้แก่บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2563 ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาความร่วมมือ ซึ่งแสดงถึงความไว้วางใจที่จะทำงานร่วมกัน การถ่ายทอดเทคโนโลยีนี้ เป็นการดำเนินงานผ่านออนไลน์เนื่องจากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีการจำกัดเรื่องการเดินทาง จากความทุ่มเทของบริษัทแอสตร้าเซเนนก้า จำกัด และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด รวมถึงความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีนได้สำเร็จ โดยชุดแรกออกสู่ตลาดในวันที่ 2 มิถุนายน 2564 (8 เดือน หลังจากเริ่มรับถ่ายทอดเทคโนโลยี) และนำมาใช้เป็นวัคซีนหลักในช่วงวิกฤตและส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

4. การจัดซื้อจัดหาวัคซีน

กระทรวงสาธารณสุข จัดให้มีกลไกการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและให้มีองค์ประกอบของความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย เนื่องจากการจัดหาวัคซีนจำเป็นต้องเข้าใจบริบทและทราบความเคลื่อนไหวในระดับโลกอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องอาศัยความรู้ทั้งในด้านวิชาการวัคซีน สาธารณสุข การเจรจาต่อรอง ตลาดวัคซีน การเมืองระหว่างประเทศ รวมถึงความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและระบบประกันและควบคุมคุณภาพวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขจึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย” เมื่อวันที่ 26สิงหาคม 2563 ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานฯ และมีองค์ประกอบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคส่วนอื่นๆ มีหน้าที่จัดทำข้อเสนอทางเลือกเชิงนโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด 19 และแผนการจัดหาวัคซีนเพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

คณะกรรมการฯ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 และได้มีการประชุมต่อเนื่องเพื่อติดตามสถานการณ์ในระดับโลก และในประเทศ โดยคณะกรรมการฯ กำหนดเป้าหมายการจัดซื้อวัคซีนเบื้องต้นที่ความครอบคลุมคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรไทย และต่อมาเมื่อสถานการณ์ชัดเจนขึ้น ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงวัคซีนน่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยประเทศให้ผ่านวิกฤตได้ จึงปรับเป้าหมายเป็นร้อยละ 70 และครอบคลุมประชาชนทุกคนในที่สุด

สำหรับทางเลือกการจัดหาวัคซีน มี 3 ทางเลือกโดยได้วิเคราะห์ข้อดีข้อด้อยของแต่ละทางเลือก ซึ่งการตัดสินใจอยู่บนความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดและการกลายพันธุ์ของไวรัส ข้อมูลผลการทดสอบวัคซีนและข้อมูลความปลอดภัย (ตั้งแต่วัคซีน AstraZeneca ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สุดในช่วงต้น และมีปัญหาที่เกิดกับอาสาสมัครที่เข้าร่วมวิจัยทำให้ต้องหยุดการวิจัยชั่วคราวเพื่อหาสาเหตุและกลับมาดำเนินการวิจัยต่อหลังจากพิสูจน์ว่าเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับวัคซีน วัคซีน mRNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่และนักวิชาการยังไม่แน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ จนถึงวันที่วัคซีน mRNA ได้ขึ้นทะเบียนและฉีดครั้งแรกในโลกที่ประเทศอังกฤษ) การจองซื้อของมหาอำนาจที่จองวัคซีนจำนวนมากล่วงหน้าก่อนที่จะมี COVAX Facility ความไม่ชัดเจนในการดำเนินงานของ COVAX Facility และเงื่อนไขราคา เวลา/จำนวนการจัดส่งที่ไม่แน่นอน รวมถึงแหล่งผลิตวัคซีนสำคัญของ COVAX Facility เกิดไฟไหม้ การที่ประเทศที่เป็นที่ตั้งของโรงงานวัคซีนระงับการส่งออกวัคซีน 

บนสถานการณ์ความไม่แน่นอน ประเทศไทยใช้หลักการตัดสินใจตามข้อมูลวิชาการที่มีอยู่มากที่สุดในเวลานั้น ประกอบกับสถานการณ์การระบาดในประเทศ รวมถึงบริบทการบริหารจัดการเพื่อนำวัคซีนไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จนในที่สุดประเทศไทยมีการจัดหาวัคซีนใน 2 ทางเลือก ได้แก่ 1. การจองซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca รวมถึงการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีและ 2. การจองซื้อกับผู้ผลิตแบบทวิภาคี ซึ่งมีการเจรจาทำสัญญากับหลายผู้ผลิต เช่น SINOVAC, Pfizer, COVOVAX ซึ่งหลักการในการจองซื้อคือเลือกวัคซีนหลายชนิดใน portfolio เพื่อความหลากหลายและเพื่อให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายในแต่ละกลุ่มเฉพาะที่อาจมีข้อบ่งใช้และข้อห้ามในการวัคซีนแต่ละชนิด

ในช่วงปลายไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 มีการระบาดหนักในจังหวัดสมุทรสาครและในช่วงนั้น สามารถเจรจาวัคซีน SINOVAC จากจีนมาใช้ช่วยควบคุมสถานการณ์ในบางพื้นที่และเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ต่อมาเมื่อ AstraZeneca รับรองโดยอย. ประเทศไทยเริ่มมีวัคซีนมาใช้เพิ่มขึ้น สำหรับประเทศไทยได้มีการติดตามความเคลื่อนไหวของ COVAX Facility อย่างต่อเนื่องและมีการเจรจาเพื่อรับทราบข้อตกลงต่าง ๆ และในที่สุดประเทศไทยไม่ได้ตัดสินใจเข้าร่วม COVAX Facility เนื่องจากสามารถจัดซื้อวัคซีนได้จากหลายช่องทางตามเป้าหมายที่วางแผนไว้ และเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เนื่องจากหลายประเทศที่เข้า COVAX Facility ไม่ได้รับวัคซีนตามที่ตกลงกันไว้

นอกจากการจัดหาวัคซีนโดยกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ยังมีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาให้การสนับสนุนเพื่อจัดซื้อจัดหาวัคซีน เช่น ภาคเอกชน สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนเพิ่มเติมมาช่วยบรรเทาวิกฤตอีกทางหนึ่ง

ในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนมีความท้าทายที่สำคัญคือการทำสัญญาการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า (Advance Market Commitment ) ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ แต่จากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีสถาบันวัคซีนแห่งชาติเป็นแกนประสาน ทำให้ได้ทางออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมาตรา 18(4) แห่งพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ในการประชุมครั้งที่ 5/2563 จึงได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19(Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ในกรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุจำเป็น พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับในวันที่ 13 ตุลาคม 2563 ทำให้สามารถใช้ประกาศนี้รองรับการจองวัคซีนล่วงหน้าได้

สำหรับการหาแหล่งงบประมาณเพื่อการจองซื้อวัคซีน มีหลายหน่วยงานยินดีเข้ามาร่วมดำเนินการและสนับสนุนงบประมาณ เช่น ภาคเอกชน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่ในที่สุด รัฐบาลเห็นว่าวัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยและนำพาประเทศก้าวพ้นวิกฤต จึงสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาวัคซีนภาครัฐทั้งหมด รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียหายจากวัคซีนโควิด 19 โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด

การพัฒนานโยบายการเข้าถึงวัคซีนของคนไทย

กรอบเวลาแสดงภาพรวมของการระบาดและการดำเนินงานสำคัญในระดับนานาชาติและในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 มีรายงานการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและต่อมามีการประชุม IHR Emergency Committee ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการระบาดของโควิด 19 เป็น Public Health Emergency of International Concerns (PHEIC) ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563

การวิจัยเพื่อปรับสูตร ตารางการให้วัคซีน และวิธีการให้วัคซีน

รอข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องวิจัยวัคซีนสูตรไขว้

การจัดการรณรงค์วัคซีนขนาดใหญ่

ประเทศไทยถือว่าประสบความสำเร็จในการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 ในวงกว้าง เนื่องจากได้รับความร่วมมือของหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กระทรวงต่าง ๆ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน

การวัดประสิทธิผลของวัคซีนในสถานการณ์จริง

ในสถานการณ์ปกติทั่วไป ประเทศไทยมีการติดตามประสิทธิผลวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างต่อเนื่อง เพื่อประเมินผลการดำเนินงาน โดยจะออกแบบการศึกษาแบบไปข้างหน้าในภาคสนาม เพื่อประเมินประสิทธิผล ซึ่งการประเมินเหล่านี้ดำเนินการและวางแผนอย่างเป็นระบบได้ง่ายเนื่องจากเป็นการดำเนินการตามระบบปกติที่บริบทมีความคงตัว ซึ่งต่างจากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่มีพลวัตสูง