1. Timeline ที่สำคัญ
กรอบเวลาแสดงภาพรวมของการระบาดและการดำเนินงานสำคัญในระดับนานาชาติและในประเทศไทย ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 มีรายงานการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนและต่อมามีการประชุม IHR Emergency Committee ในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2563 และองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการระบาดของโควิด 19 เป็น Public Health Emergency of International Concerns (PHEIC) ในวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2563
ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 เป็นเดือนที่มีความเคลื่อนไหวสำคัญของวงการวิทยาศาสตร์และวิจัย ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย มีการจัดประชุมหารือในระดับโลก “2019 novel Corona virus Global research and innovation forum: towards a research roadmap” เพื่อ (1) ประเมินองค์ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบันของโควิด 19 (2) เห็นชอบคำถามวิจัยสำคัญที่ต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วนและวางแนวทางความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน รวมถึงการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนการวิจัยสำคัญที่ช่วยป้องกันควบคุมการระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญในวงการวิทยาศาสตร์และวิจัยสาขาต่างๆ มาระดมสมองและวางแผนการวิจัยองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด 19 รวมถึงการพัฒนา medical countermeasures ต่างๆ ที่สำคัญ โดยเฉพาะยาและวัคซีน [1, 2]
สำหรับในประเทศไทยมีแนวคิดเรื่องการเตรียมการเพื่อเข้าถึงวัคซีนตั้งแต่เริ่มมีการระบาดและมีการจัดประชุมปรึกษาหารือระหว่างผู้เชี่ยวชาญในประเทศภายหลังจากการประชุม global consultation 1 วัน ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563 โดยนำข้อมูลและข้อสรุปที่สำคัญจาก global consultation มาเป็นข้อมูลประกอบการประชุม ผลการประชุมในประเทศไทยเห็นว่าประเทศไทยควรมีนโยบายเร่งด่วนที่จะให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 โดยควรมีทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเองและการจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ
เริ่มตั้งแต่มีนาคม 2563 เป็นต้นมา สถาบันวัคซีนแห่งชาติและกรมควบคุมโรค ได้ติดต่อ กับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศ เพื่อพูดคุยในการสร้างความร่วมมือสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิต และการเตรียมการสำหรับการจัดซื้อจัดหาวัคซีน (โมเดอร์นา ซิโนแวค COVAX Facility Pfizer)
เมษายน พ.ศ. 2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบ Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของประชาชนไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ซึ่งมีแนวทางการเข้าถึงวัคซีน 3 แนวทางได้แก่ 1) การวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศ 2) การรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศเพื่อผลิต 3) การจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากต่างประเทศ
12-14 พฤษภาคม 2563 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ พร้อมผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานเครือข่าย ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ศึกษาดูงานหน่วยงานผู้ผลิตในประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมร่วมกัน
มิถุนายน ถึง กรกฎาคม 2563 มีการหารือระดับนโยบายหลายครั้งเพื่อเตรียมการจัดซื้อจัดหาวัคซีน โดยเฉพาะประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า (AMC: Advanced Market Commitment) ได้แก่ ประเด็นการจองซื้อวัคซีนเข้าข่ายตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างหรือไม่ และ หากไม่เข้าข่าย จะมีข้อกฎหมายใดรองรับการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า
25 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาฯ แจ้งว่า AMC ไม่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ
25 สิงหาคม 2563 ครม. อนุมัติงบกลาง 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในประเทศไทย
26 สิงหาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนโควิด 19 เพื่อประชาชนไทย และมีการประชุมต่อเนื่องเพื่อวางแผนจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด 19
7 ตุลาคม 2563 AstraZeneca เริ่มถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเชิงลึกให้แก่ SBS
12 ตุลาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ บริษัทสยามซีเมนต์กรุ๊ป และบริษัทแอสตราเซเนนกา ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือ ในการผลิต และจัดสรรวัคซีน ชนิดไวรัลเวกเตอร์ในประเทศไทย
12 ตุลาคม 2563 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด 19 กรณีมีเหตุฉุกเฉินจำเป็น พ.ศ. 2563
17 พฤศจิกายน 2563 ครม. เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโควิด 19 แบบ AMC จากแอสตร้าเซเนนก้า
17 ธันวาคม 2563 การลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ในการพัฒนาการผลิตวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
18 ธันวาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ได้ลงนามในสัญญารับทุนอุดหนุนโครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการผลิตวัคซีนโควิด 19 ชนิด Adenovirus ในระดับ 2,000 ลิตร งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 596.23 ล้านบาท จากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ
29 ธันวาคม 2563 ครม. อนุมัติงบวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน พ.ศ. 2563 วงเงิน 1,810 ล้านบาท
5 มกราคม 2564 ครม. เห็นชอบกรอบงบประมาณการจัดหาวัคซีนโควิด 19 (SINOVAC) จำนวน 2 ล้านโด๊ส
20 มกราคม 2564 วัคซีน COVID-19 VACCINE ASTRAZENECA ขึ้นทะเบียนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
24 กุมภาพันธ์ 2564 วัคซีนส่งถึงประเทศไทยครั้งแรก (AZ 117,000 doses SV 200,000 doses)
28 กุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนครั้งแรก
2 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยได้รับวัคซีนโควิด 19 ชุดแรกที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนท์ จำกัด
2. กรอบแนวคิดสำคัญในการกำหนดนโยบายการเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย
การวางกรอบแนวคิดและประเมินความเป็นไปได้ในเชิงวิชาการและขีดความสามารถของประเทศ รวมถึงความเสี่ยง เป็นประเด็นสำคัญที่จะจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ในการเข้าถึงวัคซีน กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากหลายสถาบันและสหสาขาวิชาชีพ ได้ร่วมกันระดมสมอง ทบทวนสถานการณ์และ state of the art ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกในประเด็นสำคัญ ก่อนจะนำแนวคิดไปจัดทำ Blueprint
3. Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของประชาชนไทย
จากแนวคิดสำคัญในข้อ 1.2 ได้นำมาจัดทำนโยบายเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด19 ของคนไทย “Blueprint เพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของประชาชนไทย” เพื่อเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานงานและสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนให้ทันท่วงที และสร้างขีดความสามารถของประเทศในการวิจัย พัฒนา และผลิตวัคซีน เพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนอย่างยั่งยืน
มีเป้าหมายสำคัญ 2 ประการ คือ 1. ประชาชนไทยทุกคนได้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด 19 ในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศอื่น และ 2. ประเทศมีความสามารถในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนได้เอง เพื่อรองรับการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่ในอนาคต โดยมีการดำเนินการผ่าน 3 แนวทาง ได้แก่ 1. การจัดหาวัคซีนโควิด 19 โดยการจองซื้อวัคซีนล่วงหน้า 2. การสร้างความร่วมมือเพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด 19 จากต่างประเทศ และ 3. การวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด 19 ภายในประเทศสาระสำคัญของ Blueprint มีดังนี้
วิสัยทัศน์ คือ ประชาชนไทยเข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เพื่อหลีกเลี่ยงการป่วย การเสียชีวิตและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นกรอบนโยบายในการบูรณาการประสานงานสร้างความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการบรรลุเป้าหมายการเข้าถึงวัคซีนของประชาชน ให้มีความปลอดภัยและลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยมุ่งหวังการเร่งรัดการพัฒนาผลิตวัคซีนหรือสร้างองค์ความรู้สำคัญที่เกี่ยวข้องและสร้างขีดความสามารถของประเทศในการพัฒนาผลิตวัคซีนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง
เป้าหมายและยุทธศาสตร์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คาดหวังทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กล่าวคือ 1. ได้วัคซีนมาใช้ทันการณ์พร้อมกับประเทศที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จเป็นรายแรกๆ และ 2. สร้างขีดความสามารถของประเทศในระยะยาว จึงวางยุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินการ 2 ด้าน ได้แก่ 1. นำวัคซีนต้นแบบที่มีศักยภาพสูงจากต่างประเทศมาทดสอบในประเทศไทยและขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการผลิต (เป้าหมายระยะสั้นและระยะกลาง) โดยถือว่ายุทธศาสตร์นี้จะเป็นยุทธศาสตร์หลักที่จะเร่งรัดเพื่อให้ประชาชนไทยสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ โดยเร่งรัดกรอบเวลาการพัฒนาในแต่ละขั้นตอน แต่ยังคงมาตรฐานและคุณภาพไว้ 2. การพัฒนาความร่วมมือในประเทศเพื่อพัฒนาวัคซีนต้นแบบในประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ (เป้าหมายระยะกลางและยาว) เป็นการสร้างขีดความสามารถของประเทศในระยะกลางและระยะยาว ซึ่งประเทศไทยมีกลุ่มนักวิจัยที่มีขีดความสามารถในการพัฒนาวัคซีนในหลายรูปแบบเทคโนโลยี แม้อาจไม่ทันต่อการใช้ แต่จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาขีดความสามารถด้านวัคซีนของประเทศในระยะกลางและระยะยาว