สูติแพทย์หนองบัวลำภู ร่วมเป็นจิตอาสา มูลนิธิ Let's be heroes

26/06/2024

ข้อคิด “ในช่วงโควิดทำให้การทำงานลำบาก ทุกคนก็เลยมาช่วยเป็นจิตอาสา จึงได้เห็นน้ำใจของทุกฝ่ายที่มาช่วยเหลือกัน”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ถ้าในสถานการณ์ปกติเราก็ดูแลผู้ป่วยแผนกสูติ แต่ในช่วงสถานการ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่เริ่มมีการแพร่กระจายของไวรัสโควิดไปอย่างรวดเร็ว มีข่าวให้ได้ยินทุกวันถึงการติดเชื้อที่รุนแรงหรือเสียชีวิต โดยที่ประชาชนเพิ่งจะเริ่มได้รับวัคซีนกันในจำนวนที่จำกัด ประกอบกับในเวลานั้นการทำงานของเราก็มีจำนวนผู้ป่วยน้อย เพราะไม่สามารถผ่าตัดอะไรได้มากนัก และโรงพยาบาลที่เราสังกัดก็สามารถจัดการและควบคุมสถานการณ์ได้ จึงนำเวลาว่างในช่วงนั้นไปเป็นแพทย์อาสาในโครงการตัวเล็กใจใหญ่ของมูลนิธิ Let’s be Heroes ของคุณหมอเจี๊ยบ ลลนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแพทย์อาสานอกเวลางานมากกว่าแต่หากในเวลางานเราว่างเราก็จะโทรไปสอบถามและเยี่ยมคนไข้ในโครงการ 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ในช่วงที่จังหวัดสมุทรสาครเริ่มมีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 หนัก ๆ 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

บริษัท True Corporation ได้เข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในเรื่องระบบซิม อินเทอร์เน็ต การโทรหาคนไข้อย่างไม่จำกัด, บริษัทโลจิสติกส์ เข้ามาช่วยเหลือในการจัดส่งออเดอร์ยาให้แก่คนไข้ รวมถึงเพื่อน ๆ แพทย์ ร่วมใจกันมาเป็นแพทย์อาสาในโครงการนี้ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความประทับใจของเราคือ แม้เราจะเป็นหมออยู่หนองบัวลำภู แต่บ้านอยู่อุดร เราก็สามารถทำงานผ่านออนไลน์เพื่อดูแลคนไข้ในกรุงเทพและปริมณฑลได้ ซึ่งสำหรับเราคิดว่ามันก็ดูใหม่และไม่คิดว่าจะช่วยคนอื่นได้เยอะขนาดนี้ อีกทั้งได้เพื่อนร่วมงานใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่ง ณ ตอนนี้ก็เป็นเพื่อนกันอยู่และพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน แม้โครงการดังกล่าวจะปิดไปแล้ว เราและเพื่อนแพทย์ได้สมัครเข้าร่วมเป็นแพทย์อาสาโครงการตัวเล็กใจใหญ่ของมูลนิธิ Let’s be Heroes ซึ่งเราจะดูแลคนไข้ในเขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยทุก ๆ วันในช่วงนั้นจะได้รับข้อมูลพื้นฐานคนไข้ผ่าน Google sheet และติดตามเยี่ยมผ่านการคุยทางโทรศัพท์ ทำการออเดอร์ยาไปให้คนไข้ แต่ส่วนรายละเอียดพวกการขนส่งหรือโลจิสติกส์ไม่ค่อยมั่นใจว่ามีกระบวนการอย่างไร โดยหน้าที่ของเราก็จะมีการแบ่งประเภทคนไข้เป็น เขียว เหลือง แดง ตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของสาธารณสุข และติดตามเยี่ยมคนไข้ในทุก ๆ วัน โดยทางโครงการก็จะมีกลุ่มไลน์เพื่อไว้พูดคุยปรึกษากับคนที่มาเป็นจิตอาสาในหลาย ๆ สาขาวิชาชีพ ทั้งเภสัช ทันตะ โลจิกติกส์ และจิตอาสาหลาย ๆ ท่าน ทำให้การทำงานในช่วงนั้นผ่านไปด้วยดี 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ในช่วงแรกของสถานการณ์การแพร่ะบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 นั้นค่อนข้างลำบาก เพราะเราได้เห็นคนไข้อย่างหลากหลายรูปแบบประกอบกับวัคซีนยังไม่เพียงพอ ทำให้เราเห็นความยากลำบากในองค์กรใหญ่ ๆ อย่างโรงพยาบาลหรือสาธารณสุขที่มันมีหลาย ๆ อย่างที่ทำให้มีขีดจำกัดในการทำงานอย่างเรื่องงบประมาณ กระบวนการทำงาน แต่พอเราได้เข้ามาเป็นแพทย์อาสารู้สึกว่าสามารถทำงานได้คล่องกว่าเพราะมีการประชุมออนไลน์ทำให้สามารถลดขั้นตอนบางอย่างได้ และทุกคนที่มาเป็นอาสาต่างก็ได้มิตรภาพที่ดีต่อกันมีกำลังใจในการใช้ชีวิตในวันรุ่งขึ้น โดยสิ่งสำคัญคือ พวกเรามีความสุขและอิ่มเอมใจที่ได้เห็นคนไข้หายจากการติดเชื้อโควิดและได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวและคนที่เค้ารักอีกครั้ง 

พยาบาลตรังทำงานร่วมมือกับชุมชน

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ปฏิบัติการปิดหมู่บ้าน ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงาน

ศุภนิมิตร่วมมือกับ ThaiCare และ WHO พัฒนาสายด่วนช่วยแรงงานข้ามชาติ สะท้อนประเด็นการเข้าถึงบริการของแรงงานข้ามชาติ (ขายที่ดินเพื่อมารักษาอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน)

แรงงานข้ามชาติ ไทยแคร์ สายด่วน 1422 WHO

นักเรียน ม.6 เล่าประสบการณ์ในการเริ่มต้นเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนใหม่ในช่วงโควิด ที่ต้องเรียน online และผลกระทบด้านสังคม

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 การปรับตัว การเรียนออนไลน์