วิสัญญีทราบซึ้งความช่วยเหลือจากคนไทยที่มอบให้บุคลากรทางการแพทย์และสะท้อนความรู้สึกสะเทือนใจที่ได้เห็นผู้ป่วยหนักใส่ท่อช่วยหายใจ

26/06/2024

ข้อคิด “ภาพเราอาจจะเป็นภาพที่คนไข้เห็นครั้งสุดท้าย และคำพูดที่คนไข้พูดตอนนั้นก็อาจจะเป็นคำพูดครั้งสุดท้าย เป็นช่วงที่ค่อนข้างกดดัน” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

โดยปกติหน้าที่ของทีมวิสัญญีคือการทำให้คนไข้หลับ เพื่อที่คุณหมอผ่าตัดจะทำการผ่าตัดได้ ซึ่งพ่วงมาด้วยความชำนาญด้านการใส่ท่อช่วยหายใจ พอช่วงโควิดจึงได้รับมอบหมายให้ไปเป็นคนใสท่อช่วยหายใจ เนื่องจากช่วงแรกทางโรงพยาบาลอยากให้คนที่ใส่ท่อเป็นคนที่ชำนาญที่สุด ซึ่งการทำงานช่วงสถานการณ์โควิดเรามองว่ามีความแตกต่างกันเยอะจากช่วงปกติ เนื่องด้วยโควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ที่คนในสังคมไม่รู้จัก มีทั้งคนกลัวและคนไม่กลัว ซึ่งเมื่อเป็นโรคที่ไม่มีใครรู้จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการทำงาน เพราะไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำจะถูกต้อง ดีกับผู้ป่วย และปลอดภัยกับตัวบุคลากรเองไหม 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ปี พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

ช่วงแรกที่วิกฤตมีคนเข้ามาช่วย ซึ่งมีตั้งแต่คนนอกที่ไม่รู้อะไรเลย มาช่วยบริจาคสิ่งของ และอาหาร เป็นช่วงที่ไม่ต้องไปหาอาหารเลย เพราะมีคนคอยมามอบให้ อีกทั้งยังได้รับกำลังใจจาก Grab ที่บางทีสั่งมาก็ไม่ได้คิดเงิน หรือบางครั้งที่ไม่มีรถไปโรงพยาบาลก็จะมีอาสาขับรถมาส่งให้ฟรี ถ้าบอกว่ามาโรงพยาบาล ส่วนใหญ่ความช่วยเหลือก็จะมาจากประชาชนโดยทั่วไป เนื่องด้วยหน่วยงานที่เราทำงานอยู่เป็นองค์กรโรงพยาบาลใหญ่ที่ต้องไปช่วยคนอื่นมากกว่า 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

เราทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหลักของกรมการแพทย์ ทำให้ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงที่มีโควิดในไทย โดยตอนแรกหน้าที่ที่ได้รับอยู่ที่บำราศนราดูรก่อน แต่พอถึงจุดที่บำราศนราดูรดูไม่ไหวจึงได้กระจายมา ซึ่งตอนนั้นภารกิจแรกที่โรงพยาบาลราชวิถีได้รับคือ การผ่าตัดคนไข้คลอดที่เป็นโควิด เพราะว่าโรงพยาบาลราชวิถีมีความถนัดด้านนี้ ช่วงนั้นจะเจอคนไข้คลอดที่ติดโควิดเยอะมาก ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีอาการ แต่ก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ในการเตรียมห้อง เตรียมตัว เนื่องจากบุคลากรไม่ค่อยชินงาน เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน การเตรียมการในห้องผ่าตัดจึงต้องคุยกับทั้งทางคุณหมอผ่าตัด พยาบาล ซึ่งบุคลากรมีทั้งคนกลัวและคนไม่กลัว การเตรียมอุปกรณ์ช่วงนั้นจึงเป็นช่วงที่ต้องปรับตัว นอกจากนี้คนไข้ก็ได้มีความกลัว ต้องใส่ชุด PPE และก็ต้องจับมือคนไข้ไปด้วยพร้อมบอกว่า “ไม่เป็นไรน๊า” เพื่อให้กำลังใจ โดยช่วงต้นการทำงานของหน่วยงานก็จะเป็นประมาณนี้ แต่พอสถานการณ์เริ่มระบาดเยอะขึ้นเราก็ต้องเริ่มเปลี่ยนมาดูคนไข้ที่หนักขึ้น อย่างคนไข้ ICU ที่จะให้หมอดมยามาเป็นคนใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งแตกต่างไปจากคนท้องโดยสิ้นเชิง เนื่องด้วยคนท้องที่ติดโควิดดูแข็งแรงแค่ติดเชื้อ แต่คนไข้ที่ใส่ท่อช่วยหายใจนั้นมีโอกาสรอดน้อยมาก ทำให้ตอนที่เราใส่ท่อให้บางทีก็เกิดความรู้สึกหดหู่ และเป็นช่วงที่ค่อนข้างกดดัน เพราะคนไข้ที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจโอกาสรอดชีวิตต่ำมาก หรือ 50% รอด 50% เสียชีวิต สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ 

การอดทนและสู้กับสถานการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะมีขึ้นจนกว่ามันจะคลี่คลาย ซึ่งมองว่าถึงแม้ตอนที่เรียนอาจจะคิดว่าสามารถรับมือได้ แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะมีสิ่งที่ไม่คาดคิดที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อนให้ได้เจอ ดังนั้นจึงต้องเผชิญและสู้กับปัญหาต่อไป 

นักวิชาการวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าเรื่องบทบาทของเครือข่ายทางวัฒนธรรมกับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในจังหวัดบุรีรัมย์ 23 อำเภอ โดยทำงานที่ศาสนสถาน

สภาวัฒนธรรม ลานวัฒนธรรม บุรีรัมย์ ถุงยังชีพ ตู้ปันสุข

พยาบาลเล่าเรื่องการปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID และร่วมมือกับจุฬาฯ ออกแบบตู้ป้องกันเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อ COVID

การปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล การปรับตัว การให้กำลังใจ

จิตอาสา ThaiCare (แม่บ้าน จังหวัดศรีษะเกษ) เล่าถึงประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้าน ลาว, กัมพูชา, พม่า ในการกลับบ้าน

Thaicare จิตอาสาดูแลผู้ป่วยโควิดออนไลน์