เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค สนามบินภูเก็ต สะท้อนแนวคิดความมั่นคงของการเตรียมความพร้อมด่าน

28/06/2024

ข้อคิด “สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดเราก็ดำรงตำแหน่งนี้มา 13 ปี แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากปกติที่หน่วยงานระหว่างประเทศและการเดินทางในประเทศจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและด้านอาชญากรรม ไม่เคยได้จัดเตรียมอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางสุขภาพ พอเกิดเชื้อไวรัสโควิดเข้ามา กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องใช้ความมั่นคงทางด้านสุขภาพมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนและการเดินทางเข้าประเทศ ประมาณว่าประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปรับกระบวนการทำงานของตนเองอย่างฉับพลัน 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศปิดสนามบินประมาณปี พ.ศ. 2563 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เจ้าหน้าที่ภายในสนามบิน ที่ช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน และเครือข่ายโรงแรมที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในประเทศ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความภาคภูมิใจของเราคือ การที่เราที่ได้เป็นโมเดลให้ประเทศได้เปิดประตูบานกว้างขึ้นจาก Phuket Sandbox ถึง Thailand Reopening ที่เราสามารถคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศได้อย่างปลอดภัย ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้สนามบินปิดแต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยเริ่มปิดตั้งแต่เมษายน ปี พ.ศ.2563 และเปิดไฟล์ทบินในเดือนสิงหาคม 2563 แต่ในช่วงที่สนามบินปิดเราก็ยังทำงานอยู่ตลอด เนื่องจากยังมีไฟล์ทบินที่เข้าและออกตามกรณีพิเศษของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) อยู่ เช่น ไฟล์ทอพยพคนจากต่างประเทศ ไฟล์ทบินที่ดูแลผู้ป่วยกลับประเทศ เป็นต้น ทำให้ในช่วงนั้นเราดูแลทั้งหมดตั้งแต่ระบบคัดกรองเอกสาร การอนุญาต การตรวจหาเชื้อ และความพร้อมทางด้านสุขภาพของบุคคล ซึ่งเราจะปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเข้มงวดหรือหากมีการผ่อนคลายก็จะทำตามมาตรการนั้น โดยกำหนดให้คนเข้าประเทศคือ 1 กรกฎาคม ที่ภูเก็ต และเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน และมาผ่อนคลายประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน พอมาถึง 30 กันยา ก็เลยผ่อนคลายลง แต่ก็มีเรื่องราวความยากลำบากเช่นกัน คือ หน่วยที่จะคัดกรองคนเข้าประเทศคือ หน่วยสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการขอเอกสารใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากเพราะประเทศไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเข้าประเทศด้วยความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ทำให้บุคลากรมีไม่มากพอเนื่องจากมีอัตรากำลังเพียง 5 คน และต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในทุก ๆ วัน ในช่วงต้นเราคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นแม่งานที่ดีในการดูแลรับผิดชอบ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งเริ่มมีการส่งต่อภารกิจไปให้กระทรวงสาธารณสุข พอภารกิจอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขก็ถูกยกมาที่ระดับพื้นที่นั้น ๆ แต่ในกรุงเทพและดอนเมืองยังมีส่วนกลางคอยดูแล แต่พอมาภูเก็ตไม่ได้มีส่วนกลางดูแลทำให้ความพร้อมด้านอัตรากำลังคนไม่เพียงพอและยากยิ่งที่จะตอบสนองให้ทันเวลาได้ ซึ่งส่วนที่เราดูแลมีอยู่เพียง 5 คน เราต้องใช้คนทั้ง 5 คนดูแลคนทั้งหมดที่เข้าประเทศในช่วงเวลานั้นที่สนามบินภูเก็ต ซึ่งพอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มหาคนมาช่วย โดยในช่วงต้นเราก็ได้นำพนักงานในสนามบินมาทำงาน เพราะเขาตกงานและเขาก็มีความสามารถเรื่องระหว่างประเทศและภาษาอยู่แล้ว ซึ่งจะมาทำงานในช่วงแรก ๆ และทางเราก็มีค่าตอบแทนให้ แต่พอมาช่วงหลัง ๆ เราก็หาเครือข่ายให้มาทำงานภายใต้กำกับการดูแลของผู้ชำนาญการโดยทางเราต้องเทรนคนก่อนที่จะมาช่วยงาน ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงแรมเพราะในช่วงนั้นโรงแรมได้รับผลกระทบมากที่สุด ฉะนั้นเขาก็ต้องการให้คนเข้าไปใช้บริการโรงแรมเขา เขาจึงมาเป็นเครือข่ายให้เราเพราะก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แม้ภารกิจยังไม่ถึงท้ายสุดที่ควรจะเป็น แต่ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของทุก ๆ ฝ่ายในเครือข่ายที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้กลับมาคิดว่าประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับงานหรือนโยบายในทุกภาคส่วน ทั้งยังต้องมีแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการรับมือได้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะความมั่นคงทางสุขภาพ ประกอบกับควรมีการทำงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการเพราะเหมือนว่าแต่ละหน่วยงานก็จะโยนกันไปกันมา ประกอบกับการทำงานที่ผ่านมาได้เห็นเครือข่ายร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันในการทำงาน ส่วนตัวยังคาดการณ์อนาคตได้ว่าอาจมีบ้างที่เป็นปัญหาต้องวุ่นวายแต่สุดท้ายก็จะสำเร็จได้ 

พยาบาล IC จังหวัดภูเก็ต เล่าถึงระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC เพื่อรองรับโรคระบาด และการจัดระบบ รวมถึง surge capacity ในโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่ IC การทำงานของเจ้าหน้าที่ IC ระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC

นักเรียน ม.6 เล่าประสบการณ์ในการเริ่มต้นเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนใหม่ในช่วงโควิด ที่ต้องเรียน online และผลกระทบด้านสังคม

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 การปรับตัว การเรียนออนไลน์

ข้าราชการเล่าเรื่องการติดเขื้อหมู่ในสำนักงาน และการบริหารจัดการในมาตรการต่าง ๆ รวมถึง WFH

ระบบ Home Isolation โรงพยาบาลพระมงกุฎ