นักวิชาการ สธ. รับผิดชอบฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ได้แสดงมุมมองที่เห็นข้อจำกัดการเข้าถึงบริการของประชากรกลุ่มเปราะบาง และมุมมองของทีมเจ้าหน้าที่ ที่แม้จะไม่มีองค์ความรู้แค่ก็มีความพยายามและร่วมทำงาน

27/06/2024

ข้อคิด “ทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยคือคนไทย ที่ต้องได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 เราทำงานประจำที่ได้รับมอบหมายพวกโครงการหมู่บ้านจัดสรรชุมชน การประเมินการควบคุมโรคหรือการทำโครงการต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดไปยังหน่วยงานและพื้นที่อื่น ๆ แต่พอในช่วงโควิด 19 เราได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้างานและรับผิดชอบหน้าที่ในการฉีดวัคซีนโควิดของกรุงเทพมหานครในจุดที่วัคซีนเข้าไม่ถึงหรือผู้ที่มีความต้องการฉีดวัคซีนก่อน เช่น พระ ทหาร อสม. บุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากเป็นบุคคลด่านหน้าในการเผชิญและช่วยเหลือประชาชน 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดและเริ่มมีการนำเข้าวัคซีนมายังในประเทศไทย 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

บริษัทปูนซีเมนต์ไทย เข้ามาช่วยเหลือในการขนส่งวัคซีน โดยให้รถตู้และมีคนขับเพื่อมาช่วยในการขนส่งวัคซีน และมูลนิธิศุภนิมิต เข้ามาช่วยเหลือเป็นล่ามในการสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความประทับใจในช่วงเวลานั้น คือ การที่ทีมงานทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แม้เขาจะไม่มีความรู้ด้านวัคซีนโดยตรงแต่เขาก็พยายามช่วยเหลือเราในด้านอื่น ๆ พวกการคัดกรอง การสอบถามอาการ การเตรียมอุปกรณ์ ส่งผลให้การทำงานเกิดความเป็นทีมและสามารถทำงานได้เร็วเพราะทีมงานสามารถเข้าขากันได้ดี เนื่องจากในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีประสบการณ์การให้บริการวัคซีนโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้างแรงงานข้ามชาติ เพราะโควิดไม่มีการเลือกเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ฐานะ ความเป็นอยู่ ทุกคนสามารถติดเชื้อได้อย่างทั่วถึงเท่าเทียม ซึ่งไม่รู้ว่าวันใดวันหนึ่งหรือใครจะติดเชื้อบ้าง สิ่งที่เป็นอาวุธสำคัญในการป้องกันซึ่งเมื่อถ้าได้รับแล้วสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ระดับหนึ่งคือ วัคซีน แต่การเข้าถึงเป็นสิ่งที่ไม่เท่าเทียมกัน บางคนเข้าถึงได้ง่าย บางคนเข้าถึงได้ยาก โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น แรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเลข 13 หลักของบัตรประชาชนชาวไทย ในระยะแรกเป็นกลุ่มที่ถูกมองข้ามเพราะรัฐบาลมุ่งเป้าไปที่ประชาชนชาวไทยที่มีเลข 13 หลักและบุคลากรสาธารณสุขก่อนเป็นอันดับแรก แต่จากความเป็นอยู่ที่แออัด หนาแน่น สิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขอนามัยจึงเป็นกลุ่มที่มีการระบาดเป็นวงกว้างอย่างมาก การให้บริการวัคซีนเชิงรุกในกลุ่มนี้จึงเป็นความท้าทาย ซึ่งระบบการให้บริการแบบปกติไม่เอื้ออำนวยในการให้บริการ เช่น การคีย์ข้อมูลเชื่อมต่อกับระบบหมอพร้อมจึงต้องใช้แบบฟอร์มที่ออกแบบเอง การขอจัดสรรวัคซีนไม่สามารถคาดเดาจำนวนแรงงานในแคมป์ได้ชัดเจน เพราะไม่มีการทำทะเบียนที่ชัดเจน การขอความร่วมมือจากนายจ้างซึ่งบ้างแห่งไม่ยอมให้ฉีดเพราะเป็นแรงงานผิดกฎหมายเกรงว่าจะโดนจับบ้าง การสื่อสารของแรงงานที่พูดภาษาไทยไม่ได้ ไม่สามารถซักประวัติได้ ไม่สามารถให้สุขศึกษาได้ต้องอาศัยล่ามจากหน่วยงานอื่นมาช่วย การขนส่งวัคซีนที่ต้องอยู่ภายใต้ห่วงโซ่ความเย็นต้องอาศัยหน่วยงานที่มีรถขนส่งโดยเฉพาะ เป็นต้น การบุกตลุยไปในแคมป์คนงานก่อสร้างเกือบทุกวันเป็นเวลา 3 เดือนเต็มในแต่ละวัน ในแต่ละขบวนการเต็มไปด้วยอุปสรรคและปัญหาต้องมีการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยความอดทน ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น โดยนึกอยู่เสมอว่าทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยคือคนไทยที่ต้องได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ใด ซึ่งสิ่งนี้คือความเท่าเทียมที่ยังหาได้ในสังคมไทย ยุคโควิดระบาด ทำให้ประเทศเราสามารถควบคุมโรคได้อย่างงดงามจนเป็นที่ยอมรับของต่างชาติ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

การจัดการของภาครัฐในช่วงแรกยังมีการแบ่งแยกเชื้อชาติและการเลือกปฏิบัติภายในสังคมอยู่ ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติกลายเป็นกลุ่มเปราะบางและไม่สามารถเข้ารับสวัสดิการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่ ส่งผลให้เราต้องมุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนเหล่านี้และถือเป็นความท้าทายในการทำงานเพราะด้วยสถานที่ ภาษา และการให้ความร่วมมือที่อาจมีติดขัดบ้าง แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านมาได้ 

แพทย์ร่วมทำงาน Co-care สะท้อนความรู้สึก และเล่าการดูแลคนไข้ด้วยระบบออนไลน์

CoCare อาสาสมัคร กลุ่มเปราะบาง

พยาบาล IC จังหวัดภูเก็ต เล่าถึงระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC เพื่อรองรับโรคระบาด และการจัดระบบ รวมถึง surge capacity ในโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่ IC การทำงานของเจ้าหน้าที่ IC ระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC

คุณลุงเกษียณติดโควิด และแพร่เชื้อให้คนทั้งบ้าน เล่าประสบการณ์การติดเชื้อผ่านบทกวี

ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโควิด 19 วัคซีนเข็มที่ 7