ประชาชนชุมชนมุสลิมในจังหวัดสตูล ได้เล่าการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน และร่วมมือกับ ThaiCare

27/06/2024

ข้อคิด “ความสำเร็จของการจัดการสถานการณ์แห่งความยากลำบากให้ผ่านพ้นไป มิใช่ใคร แต่เพราะทุกคนช่วยกัน” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ก่อนที่มีโควิดเราก็เป็นนักวิจัย นักวิชาการอิสระ อาจารย์พิเศษ ณ วิทยาลัยชุมชนสตูล และเจ้าของกิจการสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ในจังหวัดสตูล และชอบทำจิตอาสามาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยจนปัจจุบันก็ยังทำอยู่ ทำให้ในช่วงโควิด 19 ที่ผ่านมาจึงถือโอกาสลุกขึ้นมาช่วยเหลือชาวบ้านในชุมชนที่เราอาศัยอยู่ 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 เริ่มระบาดรุนแรงมากขึ้น 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เพื่อน ๆ ที่รู้จักและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งนักการเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้ามาช่วยเหลือในการบริจาคสิ่งของจำเป็นและอาหารเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

สิ่งที่ทำให้มีความสุขก็คือ ในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่บางทีต้องแอบพ่อซึ่งเป็นห่วงลูกสาว แต่เราต้องไปดูแลผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อน สิ่งที่ได้รับรู้คือการมีโอกาสเป็นผู้รับทำให้เรามีความสุขและการเปิดโอกาสให้ตัวเองเป็นผู้ให้คือความอิ่มสุข ณ หัวใจยิ่งกว่า เมื่อชุมชนของเราซึ่งน่าจะเป็นชุมชนแรกที่มีคนติดโควิดในจังหวัดสตูล และเพื่อนที่โรงพยาบาลโทรมาว่าต้องเตรียมการเพราะอาจขยายวงกว้าง ประกอบกับชุมชนที่เราอาศัยอยู่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและชาวบ้านไม่ค่อยได้เรียนหนังสือจะหาเช้ากินค่ำ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่รู้เกี่ยวกับโรค ทำให้ตอนนั้นแวบแรกก็คือ คิดแค่ระวังตัวเองและคนในครอบครัว แต่มิใช่แค่คนในครอบครัวแล้วที่เราต้องดูแล แต่ยังหมายรวมถึงคนอื่น ๆ ในชุมชน ประกอบกับเป็นช่วงเดือนเราะมะฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามถือศีลอด พอมีคนในชุมชนติดโควิดทำให้ในช่วงนั้นคนที่นี่กลายเป็นคนที่น่ากลัวสำหรับคนข้างนอก บางคนตั้งใจไปซื้อกับข้าวก็โดนไล่ออกมาจากร้านโดยเจ้าของร้านเพราะกลัวลูกค้าคนอื่นไม่เข้าร้าน บางคนก็โดนลูกค้าด้วยกันไล่ ส่งผลให้ชาวบ้านในชุมชนได้รับความยากลำบาก พอเราเห็นสถานการณ์เช่นนี้เราคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่าง เราจึงทักหาเพื่อนสนิทที่เปรียบเสมือนแหล่งทุนส่วนตัวเมื่อต้องทำกิจกรรมเพื่อสังคมว่าต้องการความช่วยเหลือคนในชุมชนซึ่งอยู่ในสถานการณ์เช่นไร เมื่อเพื่อนรับรู้เพื่อนบอกว่าจะคุยกับสามีให้และเงินก็ถูกโอนมา ทำให้มีเงินก้อนแรกหลักหมื่นบวกกับเงินของตัวเองซึ่งเป็นกำไรจากธุรกิจ ทำให้มีเงินหลักหมื่นเพื่อหาซื้ออาหารมื้อแรกให้คนทั้งชุมชน เราประสานเพื่อนที่มีอาหารอยู่ในมือ ทั้งเพื่อนที่ขายข้าวสาร อาหารสด หรือผลไม้ เพื่อนรับปากจะช่วยจัดการให้ เอามาส่งให้ถึงหมู่บ้านเลยวางไว้ให้หน้าบ้าน ในขณะเดียวกันเพื่อนก็ให้ข้อคิดและกำลังใจว่า แม้ใครจะแสดงอาการยังไง ความกลัวของคนไม่เท่ากัน สำหรับเพื่อนนั้นใครไม่มีอะไรกิน ไม่มีอาหารก็บอก จะช่วยได้เท่าที่มีกำลัง และมีคุณหมอท่านหนึ่งที่เปิดคลินิกในเมือง ท่านมาด้วยตัวเองเพราะอยากสื่อให้ประชาชนรู้ว่า หากป้องกันถูกวิธี เว้นระยะห่างอย่างถูกต้อง เราก็ไม่ต้องแสดงอาการรังเกียจต่อคนที่ไม่เคยเฉียดคนที่ติดโรค ประกอบกับเราได้โพสต์ใน Facebook เพื่อขอรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ ทำให้ในตอนนั้นมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ที่รู้จักและไม่รู้จักเข้ามาช่วยเหลือในการบริจาคอาหารและสิ่งของจำเป็น อาจเพราะด้วยเป็นช่วงเดือนเราะมะฎอนที่ถือเป็นเดือนที่สื่อโอกาสในการทำบุญ ส่งผลทำให้มีผู้บริจาคของเข้ามาเยอะ ทำให้เราต้องจัดการระบบโดยเราได้สร้างไลน์กลุ่มขึ้นมาเพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรต่อไป ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสพูดคุยกันและช่วยเหลือกัน ส่งผลให้คนในชุมชนรู้จักกันมากขึ้น และในตอนนั้นเราก็ตกลงกันว่าจะปิดชุมชนเพื่อลดการแพร่ระบาดการติดเชื้อ ซึ่งเราปิดชุมชนกันเองก่อนที่ผู้ว่าจะประกาศ ทำให้สามารถจัดการภายในชุมชนได้ ฉะนั้นเราเป็นตัวกลางในการรับความช่วยเหลือและส่งต่อสู่ชาวบ้านในพื้นที่ แม้มันจะเหนื่อยและมีเรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาบ้างแต่เราก็สนุกและพร้อมที่จะลงมือทำ ในช่วงนั้นมีคนเสียชีวิต ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดกลัวและมีดราม่าเกิดขึ้น เราก็พยายามจัดการปัญหาโดยการสร้างความเข้าใจให้แก่ทุกฝ่ายโดยเราเข้าไปช่วยในการจัดการศพผู้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลสตูล เพราะด้วยความที่หลักศาสนาและพิธีต่าง ๆ ต้องทำอย่างถูกต้อง ทำให้เราต้องเข้าไปเป็นสื่อกลางระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านในการสร้างการรับรู้แก่ทุกฝ่ายจนในที่สุดก็ผ่านช่วงสถานการณ์นั้นมาได้ เมื่อวิกฤติของชุมชนเราผ่านพ้น โควิดก็ส่งบททดสอบไปยังชุมชนอื่น ซึ่งแต่ละชุมชนมีความยากง่ายแตกต่างกันไป แต่การจัดการโควิดของชุมชนบ้านวังพะเนียดหรือชุมชนของเรากลายเป็นแบบอย่างให้หลาย ๆ หน่วยงานพูดถึง จากชุมชนเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักกลายเป็นชุมชนที่อสม. เล่าว่า สาธารณสุขยกตัวอย่างการจัดการชุมชนให้หลาย ๆ พื้นที่ได้ฟัง และนั่นคือการเติบโตขึ้นในฐานะอาสาสมัครของเรา หลังจากที่เราช่วยเหลือในชุมชนแล้ว เราก็ไปเป็นจิตอาสาของไทยแคร์ เป็นคนติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ โดยในช่วงนั้นหากหน่วยงานใดขาดแคลนอุปกรณ์ต่าง ๆ เราก็จะเปิดรับบริจาคให้เพื่อไปสนับสนุนหน่วยงานนั้น ๆ มันมีอยู่ช่วงนึงที่ทางโรงพยาบาลไม่มีผ้าเช็ดมือหรือเช็ดเลือด เขาอาจจะเบิกจ่ายไม่ทันหรืออะไรก็ตาม ทางโรงพยาบาลได้แจ้งเครือข่ายที่เราดูแลอยู่ ซึ่งพอเราโพสต์ไปในอินเทอร์เน็ตแปปเดียวก็มีคนในพื้นที่เข้ามาบริจาคผ้าให้แก่โรงพยาบาล 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ได้เห็นน้ำใจของทุกคนที่ต่างช่วยเหลือกันในสถานการณ์ที่ยากลำบากเริ่มตั้งแต่ ครู อาจารย์ที่ติดต่อมาเพื่อมีส่วนร่วม และความช่วยเหลือหลั่งไหลมาอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากประชาชน คนทำงานภาคประชาสังคม จิตอาสา หน่วยงานราชการ แม้จะไม่ได้สนิทหรือพูดคุยกันมาก่อนแต่ในช่วงเวลานั้นทุกคนต่างหยิบยื่นความช่วยเหลือให้แก่กัน ทั้งยังเราได้เรียนรู้และเห็นสิ่งใหม่ ๆ ในการทำงานที่ผ่านมา ประกอบกับสถานการณ์โควิดทำให้ทุกคนที่ไปทำงานที่อื่นได้กลับมาช่วยชุมชน มีการพูดคุย สื่อสาร รวมกลุ่มกัน เพื่อที่จะส่งความช่วยเหลือมายังชุมชนจนสามารถเลี้ยงอาหารคนทั้งชุมชนได้ทั้งเดือนและผ่านพ้นวิกฤติไปในที่สุด "

ประชาชนจิตอาสา เล่าความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยและเล่าผลกระทบของตนเองที่แม่ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง (สูงอายุและโรคอ้วน) เสียชีวิตจากโควิด รวมถึงความกลัวที่ตนเองก็มีความเสี่ยง (โรคอ้วน)

อาสาสมัครสายด่วน 1330 ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด 19

นักวิชาการมหาสารคามเล่าเรื่องหมู่บ้านหนองฮู ประเด็นการตีตรา

โควิด 19 การตีตรา หมู่บ้านหนองฮู

หลวงพี่เปิดโรงทาน

หลวงพี่เปิดโรงทาน