เจ้าหน้าที่ สสจ.พิษณุโลกเล่าโครงการคนพิดโลกไม่ทิ้งกัน และการจัดการศูนย์พักคอย

26/06/2024

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ตอนนั้นค่อนข้างเกิดความอลหน เนื่องจากเมื่อมีการระบาดเกิดขึ้นหนัก ทำให้ผู้ป่วยเริ่มมีเยอะขึ้นโดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่กทม. ส่งผลให้มีปัญหาตามมาคือ โรงพยาบาลและสถานพยาบาลเริ่มไม่รับและปฏิเสธ ผู้คนส่วนใหญ่จึงอยากกลับบ้าน ซึ่งตอนนั้นพิษณุโลกเองมีการระบาดน้อยมาก อีกทั้งโรงพยาบาลก็ยังพอรองรับได้ ท่านผู้บริหารโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกับท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็เลยมีมุมมองว่าให้พาคนพิษณุโลกกลับบ้านก็เลยเป็นที่มาของโครงการ “คนพิดโลก ไม่ทิ้งกัน” โดยจะเป็นการรับมาเพื่อดูแลรักษาที่บ้าน ซึ่งจะมีการเปิดศูนย์พักคอยและโรงพยาบาลสนาม ตัวเราเองมีบทบาทเป็นทีมดูแลรักษา และเป็นคนประสานงานกับทีมดูแลรักษาในโรงพยาบาล 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2564 – เดือนมีนาคม พ.ศ. 2565 (ถึงปิดศูนย์) 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

มีปภ. เป็นส่วนสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารในการจัดตั้งศูนย์พักคอยทั้ง 3 ศูนย์, มีกรมป้องกันจังหวัดดูเรื่องความปลอดภัย, กองทัพทหารหรือกองทัพที่ 3 ดูเรื่องของการขนส่งลำเลียงคนจากกรุงเทพมายังจังหวัดพิษณุโลก, มีทีมโรงพยาบาลค่ายสมเด็จนเรศวร ซึ่งจะมีทีมแพทย์ทีมพยาบาลไปดูแลคนระหว่างเดินทางกลับมาเพื่อป้องกันการเกิดอาการทรุดลง และมีภาคเอกชนสนับสนุนเรื่องของเงินบริจาค รวมถึงช่วยเรื่องอาหารการกิน และเงินส่วนใหญ่ที่ได้รับบริจาคมาจะนำมาปรับปรุงห้องพักหรือศูนย์พักคอยเป็นหลัก 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความยากลำบาก คือ คนจะไหลเข้ามาในจังหวัดพิษณุโลกเยอะมาก เนื่องจากมีการบอกว่าจะเปิดรับคนเข้ามาทั้งคนที่อยู่พิษณุโลก ญาติอยู่พิษณุโลก และคนที่เคยทำงานอยู่พิษณุโลก ซึ่งทางทีมเราก็จะมีขอบเขตในการรับว่าจะรับเฉพาะคนที่มีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดพิษณุโลกกลับเท่านั้น คนที่ไม่มีบัตรประชาชนหรือสำเนาทะเบียนบ้านอยู่จังหวัดพิษณุโลกก็จะปฏิเสธ ซึ่งก็เป็นอะไรที่ลำบากใจพอสมควรในตอนนั้น อยากรับมาก แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องศูนย์พักคอยที่รับได้เพียงประมาณ 1,200 คน จึงไม่สามารถทำได้ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

สำหรับตัวเราเองได้เรียนรู้ว่าเครือข่ายสำคัญที่สุด ทั้งเครือข่ายการประสานงานกัน ความร่วมมือกัน ซึ่งการทำงานครั้งนั้นทุกคนจะมีความพร้อมในแต่ละหน้าที่ของตัวเอง อย่างทหารก็จะมีความพร้อมในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือในการขนส่ง การช่วยในเรื่องกำลัง ปภ.ก็จะช่วยสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งภาคเอกชนก็จะมาช่วยกัน ศูนย์การศึกษาหรือมหาลัยมาช่วยในการเขียนโปรแกรมไอที โดยหากไม่มีทุกภาคส่วนเข้ามาช่วยกันจริง ๆ คงไม่ประสบความสำเร็จ 

ประชาชนชุมชนมุสลิมในจังหวัดสตูล ได้เล่าการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน และร่วมมือกับ ThaiCare

อาสาสมัครชุมชน จิตอาสาของไทยแคร์ ชุมชนบ้านวังพะเนียด

หลวงพี่เปิดโรงทาน

หลวงพี่เปิดโรงทาน

สูติแพทย์หนองบัวลำภู ร่วมเป็นจิตอาสา มูลนิธิ Let's be heroes

แพทย์อาสา โครงการตัวเล็กใจใหญ่ มูลนิธิ Let's be Heroes