พยาบาลทำงานในสถาบันด้านยาเสพติด เล่าถึงการปรับบทบาทมาช่วยโรงพยาบาลสนาม

26/06/2024

ข้อคิด “อะไรที่เราไม่เคยทำ ไม่ได้แปลว่าเราทำไม่ได้ ถ้าเราเรียนรู้เราสามารถทำได้ ทุกงานต้องมีปัญหาที่เกิดขึ้น” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

องค์กรเป็นสถานบันเฉพาะทางด้านยาเสพติด มีหน้าที่บำบัดรักษา ถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องยาเสพติด ไม่เกี่ยวกับโควิดเลย แต่ในปี 2563 เมื่อมีการระบาด แม้คนไข้ยาเสพติดจะไม่มีใครติดเชื้อโควิด แต่ก็ต้องมีการคอยเฝ้าระวัง ซึ่งพอช่วงประมาณปลายปี 2563 ที่เริ่มมีมาตราการการกักคนที่มาจากต่างประเทศ ทางองค์กรก็ได้ส่งพยาบาลไปช่วยตรงนั้น และพอเข้าปี 2564 ที่เริ่มมีการระบาดหนักช่วงเดือนมีนาคม ส่งผลให้โรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์ในกรุงเทพเริ่มเต็ม อธิบดีจึงมีนโยบายให้องค์กรเปิดบริการทำโรงพยาบาลสนามขึ้นมา 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

22 เมษายน – 21 ตุลาคม พ.ศ. 2564 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

โรงพยาบาลนพรัตน์มาช่วยดูสถานที่ ช่วยสอนการทำโรงพยาบาลสนาม, มีการสนับสนุนเตียงจากทางทหาร, มีโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคเครือข่ายยาเสพติดส่งพยาบาลมาช่วยทำงาน, โรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค อย่างโรงพยาบาลมะเร็งอุดร ชลบุรี ตราด ตรัง ส่งพยาบาลมาช่วยทำงาน, มูลนิธิกระจกเงาบริจาคถังออกซิเจน 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

เนื่องด้วยองค์กรเป็นองค์กรเฉพาะทางด้านยาเสพติด เมื่อต้องเปิดโรงพยาบาลสนามจึงเกิดความยากลำบาก คือ ต้องมีการเรียนรู้ในเวลาอันเร่งด่วน ซึ่งทางองค์กรได้มีการศึกษาและเชิญผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำ ไม่ได้เป็นการเรียนรู้แบบผิด ๆ หรือส่ง ๆ ซึ่งมีผอ.ให้การสนับสนุนทุกอย่างเพื่อให้องค์กรทำงานได้ดีที่สุด แต่อย่างไรก็ดีการทำงานย่อมมีปัญหา อุปสรรค และความยากลำบาก ซึ่งคุณมลได้เล่าว่า พยาบาลต้องส่วมใส่ชุด PPE ในการดูแลผู้ป่วยและขนของ ซึ่งสิ่งที่หนักมาก ๆ คือการแบกถังออกซิเจนขึ้นไปชั้น 2 โดยวันหนึ่งจำเป็นต้องใช้ถึงร้อยกว่าถัง และบางครั้งก็เกิดปัญหาที่ออกซิเจนไม่พอก็ต้องมีการติดต่อประสานงานวันต่อวัน หรือแม้แต่อาหารของคนไข้ องค์กรก็ต้องมีการวางแผนว่าจะทำยังไงให้มีคนบริจาค บางทีก็ต้องมีการติดต่อกับญาติที่ค้าส่งเพื่อขอลดราคา นอกจากนี้ในการทำงานยังมีปัญหาที่ไม่คาดคิด คือ การมีคนเมาบุกเข้ามายิงคนไข้จนเสียชีวิต ซึ่งแม้ทางองค์กรจะมีการวางแผนเป็นอย่างดีตั้งแต่ก่อนเปิด จนเปิดโรงพยาบาลสนามขึ้น แต่การทำโรงพยาบาลสนามครั้งนี้นั้นก็ยังคงต้องมีการประชุมและแก้ไขปัญหาเป็นรายวัน ซึ่งคุณมลเล่าว่าพอตกเย็นจะมีการประชุมถึงปัญหาที่พบเจอและหาวิธีการแก้ไข 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ได้เรียนรู้ว่าการมีผู้นำที่ดีและให้การสนับสนุนเป็นสิ่งที่ดีมาก รู้ถึงการทำงานเป็นทีมที่ถึงแม้บางครั้งป่วยก็สู้ไปด้วยกัน เห็นถึงความมีน้ำใจของหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่ช่วยเหลือกันในยามวิกฤต และภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานครั้งนี้ที่ถึงแม้จะเหนื่อย รวมถึงได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ไม่เคยทำไม่ได้แปลว่าทำไม่ได้ โดยการที่องค์กรเก่งเรื่องยาเสพติดรู้เรื่องด้านร่างกาย ก็ได้มีการนำความรู้ตรงนี้มาบูรณาการลงไปในการทำงานครั้งนี้ด้วย เช่น การดูแลคนไข้ในด้านของจิตใจ

นักเรียน ม.6 เล่าประสบการณ์ในการเริ่มต้นเรียนชั้น ม.4 ในโรงเรียนใหม่ในช่วงโควิด ที่ต้องเรียน online และผลกระทบด้านสังคม

ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 การปรับตัว การเรียนออนไลน์

จิตอาสา เล่าประสบการณ์การป่วยจากโควิด และการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยกันในหอผู้ป่วย และได้เรียนรู้ว่า แม้เราจะป่วย เราก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นได้

ผู้ป่วยจิตอาสา

นักพัฒนาสังคม กทม. ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเด็ก ในศูนย์ CI เด็ก เขตดุสิต

ศูนย์ CI เด็ก Telemedicine นักพัฒนาสังคม