คนขับรถตู้ส่งผู้ป่วยกลับบ้านเล่าเรื่องราวสะท้อนผลกระทบต่อผู้คนที่ได้รับบริการ

26/06/2024

ข้อคิด “สะเทือนใจ ไม่รู้เขาจะไปตายหรือเปล่า เพราะตอนนั้นยาก็ไม่มี”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ก่อนหน้านั้นเราได้วิ่งงานให้กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา แต่พอช่วงโควิดลุกลามหนักขึ้นออฟฟิศก็ต้องปิดไป ทำให้เราไม่มีงาน แต่บังเอิญคุณต้อมชอบดูข่าวช่อง 3 ที่คุณสรยุทธทำอยู่ทุกวัน จึงมีโอกาสได้ยินในช่วงท้ายรายการว่าเพจอีจันประกาศหาคนที่มีรถตู้ฉากกั้น หรือมีแอร์แยก แล้วอยากทำบุญร่วมกันให้แสกนคิวอาร์โค้ดเข้าไป ซึ่งเราก็ได้ลองแสกนแอดเข้าไป และรอประมาณ 3 วันถึงมีเจ้าหน้าที่ที่ชื่อว่า คุณซี ของเพจอีจันทักมา โดยเรากับคุณซีได้วิดีโอคุยกัน เพื่อที่จะดูรถและสื่อสารเพื่อทราบถึงข้อปฏิบัติในการทำงาน เมื่อเราตกลงว่าพร้อมที่จะเริ่มงานก็ได้เข้าไปรับอุปกรณ์อย่างชุด PPE หน้ากาก และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทำให้ปลอดภัยที่สุขุมวิท 22 ในโรงแรมที่ทางเพจอีจันนัดหมาย 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

เราทำงานกับเพจอีจันอยู่ประมาณ 2 เดือนครึ่ง ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่วิกฤตมาก เนื่องจากผู้ป่วยติดเชื้อลงปอด และหลังจากนั้นเมื่อสถานการณ์เริ่มวิกฤตน้อยลงก็ได้มาทำงานกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษาต่อ แต่จะเป็นการช่วยเหลือรับส่งเด็กที่ติดเชื้อโควิดไปส่งโรงพยาบาล ซึ่งทำอยู่อีกประมาณ 1 เดือน 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เพจอีจัน และทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคด้านการศึกษา (กสศ.) นอกจากนี้ยังได้ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว อาทิ น้องชายที่มาช่วยขับรถ และเพื่อน ๆ พี่น้องที่มีรถตู้มาช่วยเป็นจิตอาสาเพิ่ม 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ในตอนแรกคิดว่าจะทำสนุก ๆ แต่เมื่อเข้าไปทำแล้วกลับมีความรู้สึกว่าใจของตนเองนั้นพร้อมที่จะช่วยเหลือเพราะเกิดความสงสารขึ้น ซึ่งปกติเราได้วิ่งงานอยู่กับ กสศ. อยู่แล้ว ก็ได้มีโอกาสได้เห็นคนด้อยโอกาสค่อนข้างเยอะ โดยเมื่อได้มีโอกาสเข้ามาทำงานส่วนนี้จึงอยากทำให้เต็มที่ก็เลยได้พาน้องชายมาช่วยอีก 1 คน เนื่องจากปกติแล้วต้องวิ่งวันเว้นวัน แต่เราไม่ทำอย่างนั้น พอขากลับที่รถไม่มีผู้ป่วยเราจะนอนในรถแล้วให้น้องชายขับกลับมารับคนต่อเพราะทางเพจอีจันจะมีผู้ป่วยให้รับอยู่ทุกวัน อีกทั้งเมื่อรถตู้ไม่พอเราได้ขอความช่วยเหลือจากเพื่อน ๆ พี่น้องที่มีรถตู้ มาช่วยเป็นจิตอาสาเพิ่ม ซึ่งก็มีทั้งคนที่กลัวและไม่กลัว มากไปกว่านั้นยังมีคนที่พร้อมจะมาแต่ครอบครัวไม่ให้มา พอไม่ได้ทำกับเพจอีจันแล้วเนื่องจากทาง กทม. ได้รับไปทำต่อเอง เราก็ได้มาทำงานกับ กสศ. ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลเด็ก รับผู้ป่วยเด็กมาส่งที่โรงพยาบาลเพื่อรักษา และนำส่งกลับบ้านเมื่อรักษาหายแล้ว โดยความประทับใจที่ได้ทำงานในส่วนนี้คือ ประทับใจทางองค์กรที่ได้ลงทุนช่วยเหลือ อย่างทางเพจอีจันที่มีการดูแลตลอดเวลา มักจะคอยโทรถามเราในระหว่างทำงานว่าเป็นอย่างไร ง่วงไหม เพราะช่วงนั้นก็เป็นช่วเคอร์ฟิวก็ต้องรีบทำเวลา เนื่องจากถ้าเป็นโรงพยาบาลรัฐก็ต้องนำผู้ป่วยไปส่งให้ได้ก่อน 8 โมง ทำให้เราต้องมีการบริหารจัดการเวลาว่าควรส่งใครก่อนหรือหลัง ซึ่งในความเป็นจริงเราก็อยากที่จะส่งผู้ป่วยลงปอดก่อนแต่ในบางครั้งก็ไม่สามารถทำได้เพราะอาจจะกลับมาไม่ทัน ก็มีความสะเทือนใจ ณ ตอนนั้น อีกทั้งเมื่อได้มาทำงานกับผู้ป่วยเด็ก ก็ได้เห็นภาพพ่อแม่ยืนส่งลูกห่างกันเป็น 10-20 เมตร และยืนร้องไห้ใส่กัน เราเองก็มีน้ำตาร่วงและสะเทือนใจเช่นกัน ทั้งสงสารพ่อแม่ และสงสารผู้ป่วย นอกจากนี้ตอนเราทำงานรับส่งผู้ป่วยมา เท่าที่สังเกตผู้ป่วยไม่คุยกันเลย ได้แต่นั่งร้องไห้และโทรศัพท์คุยกับพ่อแม่ ซึ่ง ณ ตอนนี้นึกย้อนกลับไปเราเองก็ยังมีความรู้สึกสะอื้นอยู่ข้างในลึก ๆ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ได้เรียนรู้การป้องกันตัวเอง ซึ่งเราจะพยายามป้องกันตัวเอง เพราะมองว่ายิ่งเซฟตัวเองได้มากเท่าไหร่ หรือยิ่งไม่ป่วยมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้ช่วยคนได้เยอะเท่านั้น 

จิตอาสา ThaiCare (แม่บ้าน จังหวัดศรีษะเกษ) เล่าถึงประสบการณ์ช่วยเหลือผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้าน ลาว, กัมพูชา, พม่า ในการกลับบ้าน

Thaicare จิตอาสาดูแลผู้ป่วยโควิดออนไลน์

พยาบาลเล่าเรื่องการปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID และร่วมมือกับจุฬาฯ ออกแบบตู้ป้องกันเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อ COVID

การปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล การปรับตัว การให้กำลังใจ

นักพัฒนาสังคม กทม. ที่มีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยเด็ก ในศูนย์ CI เด็ก เขตดุสิต

ศูนย์ CI เด็ก Telemedicine นักพัฒนาสังคม