นักวิชาการมหาสารคามเล่าเรื่องหมู่บ้านหนองฮู ประเด็นการตีตรา

26/06/2024

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ช่วงปกติทำงานควบคุมโรคอยู่ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โดยจะเป็นการทำงานควบคุมโรคทั่วไป อย่างโรคไข้เลือดออก โรคระบาดในพื้นที่ อีกทั้งการทำงานยังเป็นการทำงานของหน่วยงานสาธารณสุข โดยที่หน่วยงานอื่นก็ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อาทิ พ่อค้าก็ไม่ได้สนใจเลยว่าต้องมาช่วยงานควบคุมโรค แต่พอโควิดเข้ามาหน่วยงานอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งหน่วยงานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งการทำงานในช่วงโควิดเป็นการทำงานที่ค่อนข้างหนัก โดยเฉพาะช่วงการระบาดแรก ๆ ที่จะต้องเข้าไปทำความเข้าใจกับชุมชน เนื่องด้วยปัญหาเรื่องของการตีตรา หรือปัญหาที่แต่ละชุมชนมีความกลัวต่อโรคโควิดมาก ๆ ช่วงที่มีผู้ป่วยกลับบ้านจากกรุงเทพยังถือเป็นช่วงการทำงานที่หนักที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่รองรับไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่มี และมักจะถูกผู้ป่วย และญาติผู้ป่วยโทรหาเกือบตลอดเวลา เนื่องด้วยมีความกังวลเรื่องการเสียชีวิตจากโควิด ซึ่งในช่วงนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะมีเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้องพอสมควร 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงแรกของการระบาด และทำงานเกี่ยวกับโควิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2565 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เริ่มแรกคือนายอำเภอเป็นคนบริหาร แล้วดึงอบต.เจ้าของพื้นที่มาจัดงบประมาณเรื่องของที่จะนำไปช่วยเหลือในชุมชน อีกทั้งนายอำเภอยังทำการประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือ อย่างพ่อค้า เนื่องด้วยอำเภอพยัคฆ์เป็นพื้นที่ทางผ่านและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของหลาย ๆ อำเภอในละแวกชุมชน ทั้งกลุ่มของโลตัส โฮมช็อป ซึ่งคุณซันนี่เล่าว่าถ้าชุมชนมีผลกระทบเรื่องโรคระบาดเขาก็จะได้รับผลกระทบด้วยเลยช่วยเหลือกัน นอกจากนี้ภายในชุมชนเองยังมีเพจของชุมชนที่จะนำข้อมูลไปลง ซึ่งจะได้รับการบริจาคกลับมาจากคนในชุมชนที่ทำงานอยู่กรุงเทพโอนเงินเข้ามาช่วยเหลือ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ช่วงนั้นมีผู้ป่วยโควิดเดินทางมายังจังหวัดมหาสารคามแล้วเสียชีวิต ซึ่งน่าจะเป็นรายที่ 10 ของประเทศ โดยผู้ป่วยคนนี้อยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านหนองฮู ส่งผลให้คนต่างชุมชนได้มีการตีตราหมู่บ้านหนองฮูว่าเป็นหมู่บ้านที่มีโรคระบาด ทั้งที่ยังไม่ได้วิเคราะห์ถึงข้อมูลส่วนอื่น หรือนับว่าเป็นการตีตราโดยที่ไม่ยอมรับให้คนในชุมชนออกนอกพื้นที่เลย ชุมชนเลยจำเป็นต้องล้อกดาวน์อัตโนมัติ เนื่องจากจะออกไปซื้อของนอกชุมชนก็ไม่ได้ เข้าไปในตลาด หรือในอำเภอก็ไม่ได้ เพราะจะมีการตรวจบัตรประชาชนว่ามาจากชุมชนที่โดนตีตราหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นคนในชุมชนก็จะไม่มีใครขายของให้เลย โดยวิธีการแก้ไขและรับมือของหน่วยงานที่เราทำงานอยู่คือ การเข้าไปในชุมชนเพื่อสอบสวนว่าผู้ป่วยเป็นยังไง มายังไง และคนในชุมชนมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากการลงไปในชุมชนคือ คนในชุมชนไม่มีความเสี่ยงเลย เนื่องจากผู้ป่วยที่เสียชีวิตเขารู้ตัวว่าเขามีอาชีพเป็นนักดนตรี เมื่อเขาได้ลงรถที่บขส. เขาได้ให้ญาติพาไปแวะซื้อของกินของใช้เพื่อเตรียมตัวที่จะไปกักตัวและพักอยู่คนเดียว ดังนั้นคนในชุมชนเลยไม่ได้สัมผัส โดยทางหน่วยงานและเราก็ได้ทำการตรวจคัดกรองคนในชุมชนทั้งหมด ทั้งตรวจวัดไข้ วัดอุณหภูมิ และสอบสวนถึงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เสียชีวิต จากนั้นนำข้อมูลส่งคืนทางเพจของโรงพยาบาล เพจของสสม.พยัคฆ์ แล้วก็ให้ท่านนายอำเภอช่วยทำหนังสือประกาศให้กับคนในพื้นที่อำเภอพยัคฆ์ทราบว่าคนในชุมชนนี้มีความเสี่ยงน้อยมาก ความเสี่ยงต่ำ ซึ่งก็ใช้เวลากว่า 1 เดือนสถานการณ์ถึงเริ่มดีขึ้น ความประทับใจที่ได้ทำงานตรงนี้คือ การได้เห็นภาพที่คนในชุมชนดีใจที่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ ส่วนความยากลำบากคือ การทำงานและการควบคุมในช่วงนั้น เนื่องด้วยคนในชุมชนหลาย ๆ ชุมชนไม่ได้ใช้ความรู้ในการตัดสินพื้นที่ และตัดสินผู้ป่วย แต่จะรู้สึกอย่างเดียวเลยว่าโรคโควิดเป็นโรคที่น่ากลัว ผู้ป่วยน่ากลัว ก็จะปฏิเสธและไม่ให้การยอมรับ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ได้เรียนรู้การทำงานแบบบูรณาการ ได้เห็นว่าการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานในพื้นที่จะทำให้สามารถทำงานได้สำเร็จและจะเหนื่อยน้อยลง โดยหลังจากหมดโควิดแล้วก็ได้มีการนำกระบวนการที่ใช้ช่วงโควิดมาปรับใช้กับการระบาดของโรคไข้เลือดออกต่อ คือ หากมีคนไข้ 1 หรือ 2 คนในพื้นที่เจ้าหน้าที่จะให้ข้อมูลคืนกลับไปทั้งอบต. และหน่วยงานต่าง ๆ ในตำบล และหมูบ้านนั้น ๆ ว่ามีผู้ป่วยเกิดขึ้น เพื่อให้การทำงานง่ายขึ้น มีคนเข้ามาช่วย และทราบถึงความต้องการของเจ้าหน้าที่ว่าต้องการงบประมาณในการทำงานยังไงบ้าง 

จิตอาสา เล่าประสบการณ์การป่วยจากโควิด และการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยกันในหอผู้ป่วย และได้เรียนรู้ว่า แม้เราจะป่วย เราก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นได้

ผู้ป่วยจิตอาสา

พยาบาลเกษียณจิตอาสา นวัตกรรมรถส่งปิ่นโต แคปซูลส่งคนไข้

พยาบาลเกษียณจิตอาสา นวัตกรรมรถส่งปิ่นโต แคปซูลส่งคนไข้

พยาบาลเล่าเรื่องการปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID และร่วมมือกับจุฬาฯ ออกแบบตู้ป้องกันเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อ COVID

การปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล การปรับตัว การให้กำลังใจ