พยาบาล รพสต. จังหวัดยะลา เล่าถึงประสบการณ์การรณรงค์วัคซีนโควิดในชุมชนมุสลิม ที่มีความเชื่อตามหลักศาสนา และการที่ต้องมีบทบาทหลากหลายนอกเหนือจากการเป็นพยาบาล เพื่อตอบสนองต่อปัญหาโควิด

27/06/2024

ข้อคิด “เราทำทุกบทบาทที่ทำได้ในตอนนั้น” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ถือเป็นโรคอุบัติใหม่และมีการลุกลามแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้การรับรู้ของชาวบ้านยังมีไม่มากนัก ชาวบ้านนึกว่าเป็นข่าวลือหรือข่าวสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ชาวบ้านมีการปฏิบัติตัวที่ยังไม่พร้อมกับสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้การปรับตัวและการยอมรับในแนวทางการรักษาของสาธารณสุขจึงถูกตั้งคำถามถึงทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมภายใต้ข่าวลือจากสื่อต่าง ๆ และบริบทพื้นที่ชายแดนใต้ที่นำแนวคิดทางศาสนามาวิพากษ์ถึงแนวทางการรักษาทางวิทยาศาสตร์ ทำให้เราและเจ้าหน้าที่ต้องไปสร้างความเข้าใจให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ว่าโรคคืออะไร เกิดขึ้นยังไง อันตรายยังไง และต้องดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากโรคดังกล่าว 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 ระบาดใหม่ ๆ 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เจ้าหน้าที่ทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ ที่ให้ความ่ชวยเหลือในด้านการดำเนินงาน 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความประทับในช่วงนั้นคือ จะเป็นเรื่องของวัคซีนเพราะเหมือนเป็นความท้าท้ายให้แก่เจ้าหน้าที่ในการทำงานเชิงรุกที่เข้าไปสร้างการรับรู้ให้แก่ชาวบ้าน บางเคสก็ประสบความสำเร็จและทุกคนให้ความร่วมมือ เลยรู้สึกว่ามันช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดได้เยอะมาก จากคนที่ต่อต้านพอเห็นคนอื่นฉีดวัคซีนแล้ว เขาก็กล้าที่จะมาฉีดวัคซีนมากขึ้น ต้องเกริ่นก่อนว่าพื้นฐานแต่เดิมชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ค่อยชอบฉีดวัคซีนเป็นทุนเดิม ซึ่งเกี่ยวโยงกับหลักศาสนาเนื่องจากชาวบ้านมองว่าวัคซีนเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ทำมาจากเชื้อโรค ยิ่งคนที่เคร่งศาสนาจะไม่อนุญาติให้สิ่งที่เป็นเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเด็ดขาด เพราะมองว่าร่างกายของตนเองบริสุทธิ์ซึ่งสิ่งแปลกปลอมพวกนี้บางทีก็มีความเชื่อที่ว่ามีเชื้อของหมูที่เป็นสัตว์ต้องห้ามของศาสนาต่าง ๆ ทำให้ 3 จังหวัดสายแดนใต้มีการต่อต้านวัคซีนทุกชนิดไม่ใช่เฉพาะวัคซีนโควิดเท่านั้น โดยในช่วงนั้นเราก็พยายามาทำทุกอย่างทั้งไปประชาสัมพันธ์ในชุมชนว่าโรคคืออะไร มีอาการแสดงยังไง และทำไมเราต้องฉีดวัคซีน ซึ่งเราให้ความรู้และรณรงค์ให้ไปฉีดวัคซีน ทั้งยังตรวจ ATK ในชุมชน พอเราไปสร้างความรู้ชาวบ้านบางคนก็เริ่มรับรู้และรู้ว่ามันอันตราย ทำให้คนเหล่านี้ก็หันมาฉีดวัคซีนมากขึ้น แต่ก็มีคนบางกลุ่มยังลังเลเพราะในช่วงนั้นมีข่าวลือว่าฉีดวัคซีนแล้วมีอาการต่าง ๆ ประกอบกับความเชื่อเดิมทำให้บางกลุ่มก็ยังต่อต้านอยู่ ทำให้เราต้องเพิ่มการทำงานแบบเชิงรุกมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ ซึ่งเราก็มีการมาตั้งจุดฉีดวัคซีนที่หมู่บ้านเพราะโรงพยาบาลฉีดไม่ทัน โดยเราก็ลงพื้นที่เชิงรุกในหมู่บ้านจะเน้นกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ทำให้ในปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ได้รับวัคซีนพื้นฐาน 2 เข็มฉีดกันครบแล้ว แต่ถ้าวัคซีนเข็มกระตุ้นก็มีบางแต่เป็นส่วนน้อย 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

หากเราไม่ไปสร้างการรับรู้ให้แก่ชาวบ้านในชุมชนก็ส่งผลทำให้ชาวบ้านยังมีความคิดที่จะต่อต้านในเชิงลบต่อวัคซีนอยู่ โดยการที่เราเข้าไปสร้างการรับรู้เกี่ยวกับโรค การดูแลตนเอง การฉีดวัคซีน แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ก็ถือเป็นการช่วยให้ชาวบ้านเกิดการรับรู้ต่อโรคและการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันตนเองจากโรค เมื่อเราได้ให้ความรู้แก่ชาวบ้านก็มีการระมัดระวังตัวพอสมควรทำให้ชาวบ้านก็สามารถอยู่ได้ในสถานการณ์ช่วงนั้นและทำตามมาตรการที่เราได้รณรงค์ เช่น ออกไปไหนก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาทั้งยังหันมาฉีดวัคซีนกันมากขึ้น ประมาณว่าพอเราไปสร้างการรับรู้ในชุมชน เราก็เห็นความสามัคคีเหมือนเห็นพลังบางอย่างของชาวบ้านที่ร่วมมือกันเพื่อผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ไปได้ 

แพทย์ร่วมทำงาน Co-care สะท้อนความรู้สึก และเล่าการดูแลคนไข้ด้วยระบบออนไลน์

CoCare อาสาสมัคร กลุ่มเปราะบาง

จิตอาสา เล่าประสบการณ์การป่วยจากโควิด และการได้ช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยกันในหอผู้ป่วย และได้เรียนรู้ว่า แม้เราจะป่วย เราก็ยังสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยคนอื่นได้

ผู้ป่วยจิตอาสา

พยาบาลสะท้อนการได้รับกำลังใจ และความช่วยเหลือจากประชาชนต่อบุคลากรทางการแพทย์

สถาบันเฉพาะทางบำบัดรักษายาเสพติด โรงพยาบาลสนาม