อาจารย์พยาบาลรามาฯ เล่าเรื่องการทำงานกับชุมชน

26/06/2024

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ทางองค์กรหรือโรงพยาบาลรามาได้มีการทำงานกับชุมชนอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนที่จะมีการระบาดของโรคโควิด ทำให้เมื่อเริ่มมีปัญหาเกิดขึ้นจึงได้รับแจ้งมาจากทางชุมชนค่อนข้างเร็ว โดยในช่วงนั้นเป็นละลอก 3 ที่มีการระบาดหนัก ชุมชนได้แจ้งทางเรามาว่าเริ่มรับมือไม่ไหวแล้ว ซึ่งหากไม่จัดการน่าจะระบาดเร็วขึ้น เนื่องจากในชุมชนมีแรงงานต่างชาติด้วย อีกทั้งยังมีโรงน้ำแข็ง ที่นับว่าเป็นจุดของการระบาดเลย โดยเมื่อได้ทราบถึงปัญหาทางเราและองค์กรก็ได้มีการประสานงาน และมีการตั้ง CI ได้เร็ว เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เร็ว 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ตั้ง CI ขึ้นมาช่วงละลอก 3 ที่ระบาดหนักในกรุงเทพ แต่สำหรับการทำงานในชุมชนเราและองค์กรทำมาตั้งแต่ละลอก 1 หรือตั้งแต่ประมาณช่วงเดือนมีนาคม 2563 มาจนถึงระลอก 3 ช่วงเดือนเมษายน 2564 ที่เริ่มมีเคสแรกในชุมชน 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

การทำงานครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับชุมชน ซึ่งชุมชนค่อนข้างจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาเป็นจิตอาสาเพื่อช่วยคัดกรองคนในชุมชน การช่วยกันเย็บหน้ากากผ้า โดยชุมชนที่เราได้ทำงานร่วมกันหลัก ๆ ก็จะเป็นชุมชนซอยสวนเงิน แต่การตั้ง CI ในครั้งนี้เป็นการดูแล 21 ชุมชน ซึ่งแหล่ง CI ก็ไม่ใช่ชุมชนที่ดูแลเป็นหลักแต่ทางองค์กรก็รับเขาเข้ามาด้วยเพราะไปตั้งตรงนั้น นอกจากนี้ในเรื่องของความปลอดภัยต่าง ๆ ของหน่วย CI ก็จะมีกทม. มาช่วยดู และมูลนิธิต่าง ๆ หรือคนที่มีจิตศรัทธามาให้การบริจาคอาหาร และ ATK 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

การทำงานไม่ค่อยมีความยากลำบาก เนื่องจากมีเครือข่ายที่เหมือนเป็นทุนสังคมและทุนของมนุษย์มาช่วยเหลือกัน ซึ่งทางชุมชนนั้นมีความเก่งเรื่องของการเย็บปักถักร้อยอยู่แล้ว ทางโรงพยาบาลรามาจึงได้ให้ผ้าที่ของเอกซเรย์ใช้มาให้เพื่อให้คนในชุมชนเย็บทำหน้ากากจะได้ไม่ต้องซื้อ และก็มีคนบริจาคที่คล้องหูให้ โดยการที่ชุมชนมีการเย็บหน้ากาชุมชนก็ได้มีการแบ่งมาให้ชุมชนในราชเทวีด้วยกว่า 1,000 ชิ้น ทำให้ช่วงนั้นไม่ขาดแคลนหน้ากากหรืออุปกรณ์ป้องกันเลย เราก็รู้สึกประทับใจที่ได้รับการสนับสนุน ส่งผลให้ไม่ต้องซื้ออะไรเลย เพราะชุมชนได้ให้การสนับสนุนร่วมด้วยช่วยกัน อีกทั้งยังเป็นวิธีการป้องกันโควิดได้ดีด้วย 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

เราได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน โดยที่ไม่มีการแบ่งแยกวรรณะ ไม่มีใครเป็นหัวหน้าแต่เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งถ้าฉุกเฉินก็จะมีการสั่งการอยู่แล้ว โดยการตั้ง CI เพื่อดูแล 24 ชม. คนไข้ 500 แน่นอนว่าเจ้าหน้าที่ไม่พออยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ก็ต้องไปช่วยในโรงพยาบาลและในวิกฤตหลาย ๆ ส่วน ทำให้ทางองค์กรได้มีการคุยกับชุมชนตั้งแต่แรกเลย การเรียนรู้และบทเรียนที่เราได้รับคือ การวางแผนและการมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างชุมชนและโรงพยาบาล โดยจะมีการทำพันธสัญญาร่วมกันว่ากลางคืนอาจจะไม่มีแพทย์ พยาบาล ชุมชนจะต้องเป็นคนดูแล แต่ก็จะมีแพทย์เป็นที่ปรึกษา ซึ่งจากที่ชุมชนมีความกลัว พอได้ลงมือทำชุมชนก็ได้มีความเข้มแข็งขึ้น และบทเรียนของความร่วมมือ ร่วมแรงเพื่อเป้าหมายเดียวกันก็ได้ทำให้รอดพ้นจากวิกฤตครั้งนั้นได้ 

ผู้ป่วยลำไส้อักเสบที่มีอาการขาดน้ำมาก แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้ในช่วงวิกฤตโควิด

ความยากลำบากในช่วงโควิด ล็อกดาวน์

นักศึกษา ป.เอก จัดทำคูปองแบ่งปันความอิ่ม ขอ CSR จาก ศิริราชช่วยคนในบางกอกน้อย

CSR คูปองแบ่งปันความอิ่ม

หลวงพี่เปิดโรงทาน

หลวงพี่เปิดโรงทาน