26/06/2024
สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร
ในตอนต้นปีหรือเดือนมกราคม 2564 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิดอยู่ ทางกรมควบคุมโรคได้เชิญสภาอุตสาหกรรมไปหารือว่าภาครัฐจะมีการสั่งซื้อวัคซีนล็อตแรกที่จะใช้กับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งจะเข้ามาในไทยครั้งแรกน่าจะอีกประมาณ 2 เดือน แต่มีสิ่งที่กังวลคือ ตู้ที่ต้องใช้เก็บวัคซีนในโรงพยาบาลต่าง ๆ มีไม่เพียงพอ อีกทั้งสิ่งที่มีอยู่ก็อาจจะมีมาตรฐานไม่ดีพอ โดยหากต้องซื้อก็ต้องมีค่าใช้จ่ายที่มาก รวมถึงมีเวลาน้อย จึงมีการพูดคุยกันเพื่อมอบหมายให้ทางสภาอุตสาหกรรมช่วยดูแลเรื่องนี้
ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า
เริ่มพูดคุยดำเนินการตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 – สรุปผลการพิจารณาร่างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2565
มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ)
ได้ตั้งเป็นโครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ Covid 19” เพื่อรับบริจาค โดยใช้สภาอุตสาหกรรมเป็นแม่งานใหญ่ในการขอรับบริจาคจากสมาชิกสภาอุตสาหกรรมที่มีอยู่ 44 กลุ่มอุตสาหกรรม และมี 77 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด รวมถึงมีการพูดในเวทีอุตสาหกรรมสภา และทางช่องทางอื่น ๆ เพื่อให้ร่วมด้วยช่วยกัน ซึ่งมีเป้าหมายขอรับเงินบริจาคให้ได้อย่างน้อย 77 ตู้ แต่มีการบริจาคเข้ามาช่วยได้ถึง 90 ตู้ ส่วนในเรื่องของกระบวนการทำยังไงให้เกิดมาตราฐานหรือเป็นที่ยอมรับ ได้มีการขอความร่วมมือจาก 7 ผู้ผลิต ให้ทำการผลิตบริษัทละ 1 ตัวอย่าง ส่งให้กับผู้รับทดสอบที่มีทั้งภาครัฐและเอกชนรวมกัน 5 ราย และได้ขอความร่วมมือไม่ให้คิดค่าทดสอบ โดยจาก 7 บริษัท มีการทดสอบผ่านเพียงแค่ 3 บริษัท ซึ่งก็ได้ขอความร่วมมือต่อจาก 3 บริษัทที่ผ่านเพื่อนำโมเดลมาประเมินว่าสามารถผลิตให้ทันเวลาได้ไหม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากคณะผู้จัดทำ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลาย ๆ หน่วยงาน อย่างสวทช. สถาบันการไฟฟ้า และอื่น ๆ ทั้งหมด 25 ท่าน เพื่อช่วยกันตรวจสอบสเปค ความถูกต้อง และการออกแบบการผลิตให้เป็นที่ยอมรับ
เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก
การทำงานครั้งนี้เป็นเรื่องมหัศจรรย์ ที่สามารถเนรมิตและเสกให้มีตู้เก็บวัคซีนได้ในเวลาอันเร่งรัดเพียง 1-2 เดือน นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันมาช่วยชาติ ซึ่งเรามีความประทับใจที่ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานจนทำให้เกิดนวัตกรรมที่มีมาตราฐานที่ดีและได้รับการยอมรับ อีกทั้งยังบอกว่ามีความประทับใจที่เมื่อมีสถานการณ์ที่ชาติต้องการทุกคนก็เข้ามาทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างไม่มีข้อขัดแย้ง โดยการทำงานในครั้งนี้เป็นการพยายามหาเครือข่ายที่มีอยู่เพื่อมาระดมช่วยเหลือกัน อีกทั้งยังมีการปรับและใช้วิธีหรือกระบวนการบางอย่างให้มีความเร่งรัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อาทิ การประชุม ซึ่งปกติจะใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในครั้งนั้นได้นำวิธีการประชุมออนไลน์ผ่าน Zoom เข้ามาช่วย ทำให้แค่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือนก็สามารถประชุมครอบคลุมเนื้อหาได้ทั้งหมด มากไปกว่านั้นการทำงานครั้งนั้นทุกคนยังช่วยกันอย่างไม่เหน็ดไม่เหนื่อย รวมถึงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างก็ทำออกมาอย่างโปร่งใส่ ไม่มีการทุจริต ซึ่งเป็นการทำงานที่ทำเพื่อชาติและลดข้อกังขาทุก ๆ อย่าง เพื่อไม่ให้มีปัญหา จนท้ายที่สุดงานก็สามารถเคลื่อนได้ไวและประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ได้เรียนรู้
ได้เรียนรู้ว่าการมีเครือข่ายที่ดีในอุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่สามารถเอื้อให้ประสบความสำเร็จได้ โดยนับว่าเป็นตัวขับเคลื่อนให้มีกำลังใจตั้งแต่วันที่ไม่รู้ว่าจะทำอะไร อีกทั้งเรายังมองว่าถ้ามีโปรเจคอื่น ๆ ในเวลากะทันหันหรือกระชั้นชิดอีก เครือข่ายที่ดีเหล่านี้ก็ยังจะพร้อมช่วยเช่นเดิม