พยาบาลเล่าเรื่องการปรับหอผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อรองรับผู้ป่วย COVID และร่วมมือกับจุฬาฯ ออกแบบตู้ป้องกันเจ้าหน้าที่จากการติดเชื้อ COVID

26/06/2024

ข้อคิด “ถามว่ามีใครอยากทำไหม เจ้าหน้าที่ช่วงแรก ๆ เขาปฏิเสธกันเลยเพราะเขากลัว คนภายนอกไม่อยากเข้าห้างก็ไม่เข้าได้ แต่สำหรับบุคคลากรเลือกไม่ได้เป็นหน้าที่ที่ปฏิเสธไม่ได้”

 สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร

โดยปกติเป็นหัวหน้าตึกคนไข้ที่ผ่าหัวกับผ่าหลัง แต่พอช่วงโควิดต้องปรับตามนโยบายของกระทรวงซึ่งสั่งการให้กรมโรงพยาบาลทางการแพทย์ช่วยกัน เนื่องจากคนไข้โควิดเริ่มล้น และไม่มีที่แอดมิท รวมถึงไม่มีเตียงรองรับ ดังนั้นผู้อำนวยการเลยให้ปรับเปลี่ยนจากหอคนไข้ที่ผ่าหัวกับผ่าหลังเป็นหอผู้ป่วยโควิด 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

พฤศภาคม - กันยายน พ.ศ. 2564 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

อันดับแรกเลยก็คือ ผู้อำนวยการ แล้วก็จะมีหัวหน้าพยาบาล, ฝ่ายอาคารสถานที่, ช่างมาช่วยตีกั้นพื้นที่ไม่ให้อากาศเข้าไป, แม่บ้านช่วยในการเก็บขยะ และนอกจากนี้ก็มีการประสานกับคนภายนอกเหมือนกัน 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

การปรับหอครั้งนี้ต้องปรับภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากคนไข้จำนวนมากไม่มีที่รองรับทำให้ต้องรีบดำเนินการ ซึ่งการปรับหอมีการระดมกำลังจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งต่อเจ้าหน้าที่ และคนไข้ รวมทั้งต้องมีการจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ให้พร้อม แต่อย่างไรก็ตามจากการที่หอพักไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนไข้ติดเชื้อโดยเฉพาะ ส่งผลให้การทำงานเกิดความยากลำบากจากหอที่มีการเปิดแอร์ระหว่างการทำงานต้องเปลี่ยนมาเป็นการเปิดพัดลมแทน รวมถึงต้องมีการปิดแอร์ตรงเคาน์เตอร์เพื่อไม่ให้แรงดันภายในห้องคนไข้กับเจ้าหน้าที่ถึงกัน นอกจากนี้ด้วยการที่เจ้าหน้าที่ไม่เคยดูแลผู้ป่วยโควิดมาก่อนทำให้ต้องมีการเรียนรู้ และมีการปรับตัวอย่างมากเมื่อต้องเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการส่วมใส่ชุด และระบบการดูแลรักษา มากไปกว่านั้นเจ้าหน้าที่ยังต้องมีการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ หรือสิ่งที่ไม่คาดคิด อย่างเช่นการใส่ท่อช่วยหายใจให้กับคนไข้ ซึ่งแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะทราบดีว่าการใส่ท่อช่วยหายใจจะยิ่งทำให้เชื้อโรคฟุ้งกระจาย แต่เมื่อมีความจำเป็นเนื่องจากคนไข้ช่วงนั้นอาการหนัก และเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้อาการแย่ลงเร็วมาก จึงต้องใส่เพื่อให้คนไข้ปลอดภัย ส่วนเจ้าหน้าที่ก็ต้องหาอุปกรณ์ช่วยเหลือเพื่อความปลอดภัยเช่นเดียวกัน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ยากลำบาก จำเป็นอย่างมากที่ต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกันระหว่างเจ้าหน้าที่ เนื่องด้วยเจ้าหน้าที่มีความเครียดสูงและเหนื่อยมาก ๆ ซึ่งหลัง ๆ หอพักนี้ก็ได้นำคนไข้โควิดที่เป็นอัมพาตเข้ามาดูแลด้วย ยิ่งทำให้การดูแลยากยิ่งขึ้น 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ได้เรียนรู้ว่าอะไรที่ไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ และได้เรียนรู้ถึงการปรับตัว รวมถึงการดูแลตัวเอง เพราะถือได้ว่าต้องเข้าไปอยู่กับดงของโควิด ซึ่งในช่วงกลับบ้านไปก็กังวลว่าจะนำเชื้อโควิดไปติดที่บ้านไหม จากปกติที่จะแค่เปลี่ยนเสื้อผ้าเมื่อถึงบ้านก็ต้องเปลี่ยนเป็นต้องอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้า นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาในแต่วัน และได้เรียนรู้การซัพพอร์ตจิตใจซึ่งกันและกัน

อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรม เล่าเรื่องการพัฒนาตู้เย็น และแจกจ่ายให้โรงพยาบาลในช่วงโควิด

โครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ Covid 19” เครือข่ายสภาอุตสาหกรรม

พยาบาลตรังทำงานร่วมมือกับชุมชน

ศูนย์ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ปฏิบัติการปิดหมู่บ้าน ความร่วมมือระหว่างชุมชนกับหน่วยงาน

พยาบาลสะท้อนการได้รับกำลังใจ และความช่วยเหลือจากประชาชนต่อบุคลากรทางการแพทย์

สถาบันเฉพาะทางบำบัดรักษายาเสพติด โรงพยาบาลสนาม