กรมการแพทย์ ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสนามวัดโกรกกราก (โรงพยาบาลสนามแห่งแรก) นิมิตบุตร และโรงแรมใบหยก

26/06/2024

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ช่วงนั้นเป็นผู้ตรวจราชการกรมเขต 5 ซึ่งเป็นของสมุทรสาคร โดยกรมที่อยู่คือกรมการแพทย์ มีหน้าที่รับการรักษาของคนไข้ในกระทรวงสาธารณะสุข รวมถึงจะมีการตรวจโรคอุบัติใหม่ โดยในช่วงโควิดเราได้เข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสนามวัดโกรกกราก (โรงพยาบาลสนามแห่งแรกของประเทศ) และโรงพยาบาลสนามกีฬาสมุทรสาคร รวมถึงได้เป็นรองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามนิมิบุตร 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ประมาณช่วงมีนาคม - ตุลาคม พ.ศ. 2564 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

โรงพยาบาลสนามนิมิบุตร เป็นความร่วมมือจากหลาย ๆ กรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรมวิทยาศาสตร์ กรมอนามัย ที่ได้นำเครื่องเอกซเรย์มาตั้งไว้ รวมทั้งเอาแลป RT-PCR มาสวอปเบ็ดเสร็จไว้ ณ โรงพยาบาลสนาม นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากคนไข้ที่ได้เข้ามาเป็นจิตอาสาช่วยดูแลคนไข้รายอื่น ๆ ในโรงพยาบาลสนาม และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงกับโรงพยาบาลสนามมาช่วยในการบริจาคสิ่งของต่าง ๆ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

เราได้มีโอกาสเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงพยาบาลสนามตั้งแต่โรงพยาบาลสนามแห่งแรกของประเทศไทย หรือโรงพยาบาลสนามวัดโกรกกราก ซึ่งช่วงนั้นมีจำนวนเตียงเพียงแค่ประมาณ 60 เตียง เนื่องจากผู้ป่วยจำนวนยังไม่มากนัก และยังไม่มีการระบาดเกิดขึ้นในหลาย ๆ พื้นที่ รวมทั้งในพื้นที่กทม. แต่ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีจำนวนมากขึ้น รวมถึงมีผู้ป่วยแรงงานต่างด้าวค่อนข้างเยอะ เราเลยได้มีการพูดคุยกับทางกลาโหม ผู้ว่า และได้เสนอที่สนามกีฬาของสมุทรสาคร เพื่อให้เป็นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ แต่อย่างไรก็ตามข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น เพราะสิ่งที่ถือเป็นไฮไลท์ประสบการณ์ชีวิตการเป็นหมอสำหรับเราคือ โรงพยาบาลสนามนิมิบุตร การระบาดของกทม.ไม่สามารถที่จะใช้ระบบเดียวกันกับที่สมุทราสาครได้ เช่น การจะเอาคนกทม. ไปนอนโรงพยาบาลสนาม เนื่องจากคนที่ไปนอนโรงพยาบาลสนามที่สมุทรสาครส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าว แต่ถ้าจะเอาคนกทม.ไปแบบนี้ก็มองว่าน่าจะลำบาก เพราะแอร์ก็ไม่มีและต้องนอนถึง 14 วัน ซึ่งเมื่อเกิดข้อจำกัดแบบนี้ช่วงแรก กทม.จึงเกิดโรงพยาบาลสนามที่แรกคือที่โรงแรมใบหยก โดยเกิดจากสถาบันมะเร็งไปขอความร่วมมือจากโรงแรมใบหยกที่ปิดอยู่ แต่หลังจากนั้นก็พบข้อจำกัดอีกว่าการระบาดของกทม.ใหม่ ๆ ยังไม่มี ATK ดังนั้นการยืนยันของคนเป็นโควิดก็ต้องทำ RT-PCR อีกทั้งตอนนั้นโควิดสายพันธุ์เป็นอัลฟาและเดลต้าที่เชื้อจะลงปอดค่อนข้างเยอะจึงต้องมีการเอกซเรย์ โดยปัญหาทั้ง 2 อย่างนี้กทม.ไม่สามารถที่จะรองรับได้ ความคิดของท่านอนุทินช่วงนั้นคืออยากจะให้มีที่ใดที่หนึ่งที่สามารถตรวจ วิเคราะห์ แอดมิท และส่งต่อได้ก็เลยกลายเป็นที่มาของโรงพยาบาลสนามนิมิบุตร ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามที่เรากล้ายืนยันว่ามีการรับผู้ป่วยโดยไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ไม่ว่าจะอายุเยอะ ต้องล้างไต หรือเป็นต่างด้าว โรงพยาบาลรับหมดขอแค่เป็นโควิด ซึ่งสิ่งที่เราประทับใจจากการทำงานครั้งนี้คือ 1. ประทับใจน้ำใจของจิตอาสาที่เป็นผู้ป่วยข้างใน เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้สามารถที่จะกลับบ้านไปดูแลคนที่บ้านได้เมื่อหายแล้ว แต่เขากลับเลือกที่จะอยู่ต่อเพื่อช่วยบุคลากรที่มีจำนวนน้อยกว่าจำนวนผู้ป่วยที่ต้องดูแล และ 2. ประทับใจน้ำใจของชาวบ้านที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกับโรงพยาบาลสนามที่คอยมาบริจาคสิ่งของและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

การทำงานครั้งนี้เราได้เรียนรู้ระบบที่ล้มเหลว เพราะว่ากทม.จริง ๆ แล้วมีหลาย ๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นของสำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณะสุข โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลทหาร หรือว่าของกทม. เอง ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยที่รู้สึกว่าล้มเหลวก็เนื่องด้วยหลาย ๆ ส่วนเหล่านี้มีการทำงานโดยไม่ได้คุยกัน หรือกล่าวได้ว่าต่างคนต่างทำงาน ดังนั้นปัญหาที่มีจึงไม่ได้ถูกแก้โดยองค์รวม อย่างกรณีของเราเองก็เป็นกรมการแพทย์ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณะสุข และโรงพยาบาลของกรมการแพทย์จริง ๆ แล้วมีแค่ 10 โรง ดังนั้น คนที่จะดูแลในกทม. คือโรงพยาบาลกทม. แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดที่ว่าต้องทำงานหลาย ๆ อย่าง รวมถึงต้องมีความร่วมมือหลาย ๆ ส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องยากในการพูดคุย เราจึงมองว่าได้เรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการไม่คุยกัน หรือจากการที่ต่างคนต่างทำงาน และไม่สามารถสั่งงานใครได้ เพราะอยู่คนละกระทรวง 

พยาบาลร่วมทำงานกับ ThaiCare (telemedicine)

โครงการไทยแคร์ พยาบาลอาสา อาสาสมัคร

ประชาชนชุมชนมุสลิมในจังหวัดสตูล ได้เล่าการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือชุมชน และร่วมมือกับ ThaiCare

อาสาสมัครชุมชน จิตอาสาของไทยแคร์ ชุมชนบ้านวังพะเนียด

ผู้จัดการสิ่งแวดล้อมบริษัท Cotto ดูแลความเสี่ยงขององค์กร จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม และช่วยเหลือชุมชน

บริษัท Cotto การจัดการความเสี่ยงภายในองค์กรช่วงโควิด