นักวิชาการสาธารณสุขสังกัด สปคม. เล่าความประทับใจในการทำงานโครงการ Super rider จิตอาสาช่วยขนส่งตัวอย่างจากผู้ป่วยตามบ้านมาตรวจทางห้องปฏิบัติการ

27/06/2024

ข้อคิด “ “Super Rider จิตอาสา” มีความภาคภูมิใจอย่างมากที่ความเสียสละของพวกเค้าได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอาไว้เป็นจำนวนมาก”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

แตกต่างกันมากในลักษณะการทำงาน แต่ก่อนเราก็จะทำงานตาม routine ของเราไปตามโปรเจกต์หรือโครงการต่าง ๆ แต่พอมีการระบาดโควิด 19 ทำให้การทำงานปรับไปหมดทั้งองค์กร โดยในช่วงแรกที่มีการระบาด เราก็ต้องมานอนที่ทำงานเพราะต้องนั่งทำข้อมูลเนื่องจากเราอยู่กรมควบคุมโรค แต่ถ้ามีลงพื้นที่เราก็ต้องรีบลงทันที ทำให้ตอนนั้นก็มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนมานอนกันที่ทำงาน 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ประมาณปี พ.ศ. 2563 - พ.ศ. 2564 ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 รุนแรง 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

โรงพยาบาลราชวิถี ให้ความช่วยเหลือในด้านข้อมูลและยา 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความประทับใจจะเป็นความสำเร็จมากกว่าในหมวดของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับชาวบ้านเข้าใจกับการทำงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำให้สามารถดูแลกันได้ดี โดยความสุขเล็ก ๆ ของเราคือ แค่คนไข้เขาหายป่วยก็ถือเป็นความสุขอย่างหนึ่งแล้ว เมื่อการระบาดของโควิด 19 ขยายวงอย่างกว้างขวาง ความกลัว ความวิตกกังวล เริ่มเข้าครอบงำจิตใจของผู้คนในประเทศ ทุกคนมีความตระหนก กังวลว่าตัวเองจะเผลอติดเชื้อไปหรือยัง ความต้องการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ของประชาชนจึงมีความต้องการมากขึ้นเป็นทวีคูณทุกวัน จุดที่ให้บริการตรวจโควิด 19 มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ คนที่เข้าถึงบริการตรวจเป็นผู้ที่สามารถเดินทางมาตรวจที่จุดบริการเองได้ แต่ยังมีผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเดินทางมารอรับบริการที่จุดตรวจได้ ปัญหานี้เริ่มทำให้เรามีความกังวลมากขึ้น เมื่อบุตรหลานที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เริ่มทยอยกันติดเชื้อและแพร่เชื้อให้กับบุคคลในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว ก็ทำให้ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น ด้วยความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ทางทีมสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) โดยนายแพทย์วิชาญ ปาวัน และทีมตรวจค้นหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุกจึงได้ริเริ่มให้มีการบริการตรวจค้นหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุกถึงที่บ้านร่วมกับหน่วยงานเจ้าของเครือข่ายพื้นที่ เริ่มแรกเราเข้าไปในพื้นที่สมุทรสาครก่อนละย้ายมาบางแคแล้วก็ไปคลองเตยต่อ แต่ที่คลองเตยหนักที่สุด โดยตั้งชื่อบริการนี้ว่า IUDC Delivery โดยการจัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเก็บตัวอย่างถึงบ้านและรายงานผลการตรวจผ่านระบบออนไลน์ภายใน 24 ชั่วโมง สร้างความประทับใจและคลายกังวลให้กับผู้ป่วยได้เป็นอย่างมาก 

ในขณะเดียวกันช่วงนั้นทีมตรวจค้นหาเชื้อโควิด 19 เชิงรุกตรวจพบว่า เมื่อเราเร่งค้นหาเชื้อเชิงรุกมากขึ้นก็จะพบผู้ป่วยมากขึ้น เกิดปัญหาเตียงในโรงพยาบาลเริ่มไม่เพียงพอสำหรับการดูแลผู้ป่วย ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขประกาศให้มีการรับผู้ติดเชื้อเพื่อรักษาตัวที่บ้านในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง (เราเรียกว่าผู้ป่วยสีเขียว) ผ่านระบบ Home Isolation สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตระหนักและห่วงใยประชาชนเป็นอย่างยิ่งและเพื่อการดูแลอย่างครบวงจรทางหน่วยงานได้เปิดให้มีบริการดูแลรักษาผู้ป่วยสีเขียวที่บ้าน จึงได้เปิดตัวโครงการ “Super Rider จิตอาสา” ขึ้น ซึ่งโครงการนี้ก็จะทำงานในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล เพราะเราห่วงใยในเรื่องสุขภาพของไรเดอร์ด้วยเพราะเดียวเดินทางไกลเกิน โดย “Super Rider จิตอาสา” จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม เพื่อขนส่งตัวอย่างจากบ้านผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการมาส่งให้ห้องแล็ป สปคม. เพื่อให้ตรวจวิเคราะห์ผลได้รวดเร็วขึ้น ตามการให้บริการของ IUDC Delivery และขนส่งกล่องรอดตาย กล่องยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ไปให้ผู้ป่วยที่รักษาตัวที่บ้านอีกด้วยตามบริการของ Home Isolation สิ่งที่น่าทึ่งมากคือ หลังที่หน่วยงานปล่อยประกาศผ่านทางเพจสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมืองไปไม่กี่ชั่วโมง กระแสตอบรับดีมาก ๆ จากเหล่าจิตอาสาคนไทยในขณะนั้น ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานมิได้มีค่าตอบแทนใดใดให้กับเหล่าจิตอาสาเลยแต่กลับได้รับกระแสตอบรับสมัครเข้ามาอย่างล้นหลามจนเต็มโควต้าที่เรากำหนดไว้เพราะเราเกรงว่าจะดูแลความปลอดภัยของกลุ่มไรเดอร์ไม่ดีพอ ซึ่งทางเราก็ให้เขามาตรวจสุขภาพและมาทำบัตรว่าเป็นเจ้าหน้าที่พนักงานในช่วงนั้น อย่างน้อย ๆ เวลาเขาไปบ้านคนไข้เขาก็จะมีบัตรอยู่เพราะเดี๋ยวคนอื่นคิดว่าเป็นมิจฉาชีพ โดยผู้ที่มาเป็นไรเดอร์ไม่เคยเรียกร้องอะไรเลย บางเคสเขาก็เอามอไซต์หรือรถยนต์ส่วนตัวมาช่วยเราด้วยซ้ำ ไม่เคยถามค่าน้ำมัน ค่าตอบแทน แต่เราในฐานะเจ้าหน้าที่ก็ได้ใจกัน ได้ดูแลกัน ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาภูมิใจที่ได้มาช่วยเหลือเราและช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ส่งผลให้ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเชิงรุกได้มากขึ้นได้รับผลแล็ปเร็วขึ้น ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาเร็วขึ้นโดยมี “Super Rider จิตอาสา” ช่วยรับส่งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปให้ผู้ป่วยถึงบ้าน สำหรับผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้สูงอายุ “Super Rider จิตอาสา” ให้บริการได้จำนวน ทั้งสิ้น 173 ราย ผลพบเชื้อ 45 ราย สำหรับการนำส่งยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ “Super Rider จิตอาสา” ให้บริการได้จำนวน 844 คน ซึ่งไรเดอร์มาเป็นส่วนเสริมในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมาและถือว่าเป็นผู้ที่ดูแลคนไข้ได้ดีมาก ๆ และดูแลคนไข้ Home Isolation ได้จนจบงาน โดยเราก็เริ่มหยุดโครงการในช่วงที่เริ่มกลับมาทำงาน เพื่อให้ไรเดอร์ไปทำงานของตนเอง และช่วงนั้นไรเดอร์ก็จะมีสมาคมเป็นของตัวเอง ประมาณว่าเขาได้เพื่อนได้สังคมและได้ทำงานใกล้ชิดกับเจ้าที่สาธารณสุข ทำให้เขารู้กระบวนการในการทำงานมากขึ้น ซึ่งเขาก็ไม่ได้กลัวที่จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง 

ส่วนความยากลำบากจะอยู่ในหมวดของเรื่องอุปกรณ์ซัพพอร์ตที่ปกติหน่วยงานภาครัฐก็ต้องทำตามระเบียบทำให้ไม่ค่อยได้เร็วมากในเรื่องนี้แต่เราก็เข้าใจ ส่งผลให้เราไม่สามารถซัพพอร์ตประชาชนได้เร็วมากพอ ประกอบกับเรื่องเตียงที่มีไม่มากพอในบริบทของกรุงเทพช่วงที่ยังไม่มี Home Isolation เวลาไม่มีเตียงให้คนไข้นอน การรับสายโทรศัพท์ไม่เคยว่างเพราะอย่างน้อยเราก็คุยเพื่อปลอบใจและเจ้าที่หน้าที่ต้องรองรับอารมณ์ประชาชนให้ได้ โดย ณ ปัจจุบันก็ยังมีหน่วยที่ดูแลโควิดอยู่แต่จะรับผิดชอบตามเขตนั้น ๆ ซึ่งหน่วยงานเราจะสอนชาวบ้านให้เป็นจิตอาสา โดยเราให้ความรู้และพัฒนาความรู้เพื่อนำไปต่อยอดในชุมชนของตัวเองต่อ ๆ ไป 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

จากการที่เราได้ทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมามันเป็นอะไรที่สนุกและเห็นความช่วยเหลือของทุก ๆ คน ทุก ๆ หน่วยในการทำงาน แค่เราเห็นคนป่วยหายป่วยเราก็มีความสุขแล้ว ประกอบกับเห็นข้อจำกัดการทำงานของรัฐคือ ระเบียบ ซึ่งเราก็เข้าใจว่าต้องเป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการที่วางไว้ในเชิงการจัดซื้อจัดจ้างหรือการจ้างบุคลากรรวมถึงการเบิกจ่ายค่าตอบแทน โดยหน่วยงานเราก็เหมือนทำระบบเข้ามาเสริมในจุดอ่อนของภาครัฐ ซึ่งไม่ต้องไปหาที่ไหนเลยในสภาวะแบบนี้มีแต่ใจล้วน ๆ เพราะคนที่มาเป็นจิตอาสาและมาช่วยเหลือเขามาช่วยด้วยความเต็มใจ จึงถือเป็น Hero ในช่วงเวลานั้น 

พยาบาล IC จังหวัดภูเก็ต เล่าถึงระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC เพื่อรองรับโรคระบาด และการจัดระบบ รวมถึง surge capacity ในโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่ IC การทำงานของเจ้าหน้าที่ IC ระบบแจ้งเตือนของเครือข่าย IC

นักเทคนิคการแพทย์จังหวัดภูเก็ต เล่าถึงประสบการณ์การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกินกำลังปกติจะรองรับ

นักเทคนิคการแพทย์ การตรวจหาเชื้อโควิด 19 Real Time RT-PCR NPS swab

นักวิชาการวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ เล่าเรื่องบทบาทของเครือข่ายทางวัฒนธรรมกับการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในจังหวัดบุรีรัมย์ 23 อำเภอ โดยทำงานที่ศาสนสถาน

สภาวัฒนธรรม ลานวัฒนธรรม บุรีรัมย์ ถุงยังชีพ ตู้ปันสุข