พยาบาลนนทบุรี เล่าเรื่องการจัดตั้ง Cohort ward ที่ได้รับความร่วมมือ และทรัพยากรจากชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ

26/06/2024

ข้อคิด “ไม่ได้เปิดเมื่อพร้อม แต่ต้องพร้อมเมื่อสั่งให้เปิด”

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

โดยปกติเรามีหน้าที่ดูแลหอผู้ป่วยวิกฤตหรือดูคนไข้หนัก ซึ่งตอนแรกไม่คิดว่าตัวเองจะมีผลกระทบเท่าไหร่ แต่เนื่องด้วยคนไข้โควิดมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นมาเป็นระลอกทำให้ได้มีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือ โดยในช่วงที่คนไข้เพิ่มสูงขึ้นทางโรงพยาบาลมีพื้นที่ไม่เพียงพอในการรองรับ เนื่องจากทางโรงพยาบาลไม่เคยมีคนไข้กลุ่มใหญ่ที่ต้องแยกเยอะขนาดนี้มาก่อน ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้น คนไข้ที่เป็นโควิดทุกคนต้องมานอนที่โรงพยาบาลไม่สามารถกักตัวหรือดูแลตัวเองได้อย่างในปัจจุบัน ดังนั้นทางโรงพยาบาลจึงได้มีการเปิดสถานที่ดูแลเป็นลักษณะของ cohort ward ให้สามารถดูแลคนไข้ประเภทนี้ได้ทีละเป็นหลักร้อย 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

เริ่มตั้งแต่ปลายปี 2563 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

ในการจัดตั้ง cohort ward หลัก ๆ มีการใช้เงินงบประมาณของทางโรงพยาบาลก่อน แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีการเปิดรับบริจาคในบางอย่างที่มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ค่อนข้างใช้เวลารวดเร็ว เช่น อุปกรณ์ไฟฟ้า พัดลม อาหาร นอกจากนี้โรงพยาบาลยังมีการตัดสินใจติดประกาศขอรับบริจาคตั้งแต่ของใช้ส่วนตัว อาหารแห้ง อุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากแทบทุกภาคส่วน มีตั้งแต่ส่วนงานราชการ แต่ส่วนใหญ่ก็จะเป็นประชาชนทั่วไปและเอกชนที่จะเข้ามาบริจาค ซึ่งบางคนก็มาบริจาคเป็นเงิน แต่ที่ต่อเนื่องและเป็นเวลานานเป็นปีส่วนมากจะเป็นในเรื่องของอาหารที่ให้กับบุคคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ การช่วยเหลือที่จะเห็นได้เยอะเลยจะเป็นช่วงที่โรงพยาบาลต้องไปตั้งสนามฉีดวัคซีนที่นอกโรงพยาบาลกับการตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยโรงพยาบาลสนามต้องใช้เวลารวดเร็วไม่ต่างจากการเปิด cohort ward จึงได้ขอสนับสนุนสถานที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวกับ เช่น สถานที่แรกของโรงพยาบาลบางบัวทองคือ โรงเรียนบางบัวทอง เนื่องด้วยเป็นช่วงปิดเทอมพอดีจึงได้ขอความร่วมมือจากโรงเรียน แต่อย่างไรก็ตามการทำให้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาลก็จำเป็นจะต้องใช้เงิน ฉะนั้นจึงได้มีการตั้งกรรมการในอำเภอ โดยมีนายอำเภอเป็นประธานช่วยสนับสนุนและมีเทศบาลมาเป็นเจ้าภาพทุ่มเงินในการปรับสถานที่ให้โรงเรียนเป็นโรงพยาบาล ซึ่งตอนนั้นเมื่อได้โรงพยาบาลสนามแล้ว ก็ได้มีการขอรับบริจาคเตียงจาก SD เฟอนิเจอร์ 300 เตียง พร้อมพัดลมครบชุด ส่วนในเรื่องของความปลอดภัยที่พยาบาลต้องอยู่เวรก็ได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจเข้ามาเฝ้า และมี อภปร. ให้การดูแลตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก สภอ. ที่ให้ความร่วมมือกับทหารในเขตพื้นที่ที่เข้ามาช่วยดูแล และสุดท้ายก็มี อบจ. มาช่วยจัดการขยะ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

เรามองว่าประสบการณ์ครั้งนี้มีทั้ง 2 ด้าน ทั้งความประทับใจและความยากลำบาก และไม่คิดว่าจะสามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นทั้งที่ตัวเราเองก็ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งยังไม่คิดว่าโรงพยาบาลจะสามารถทำได้ นอกจากเราจะมีความประทับใจ cohort ward กับโรงพยาบาลสนามที่ใช้เวลาแค่หลักวันในการเปิดมาเพื่อดูแลคนไข้ เรายังประทับใจของบริจาคต่าง ๆ ที่มีการหลั่งไหลเข้ามา ซึ่งเรามองว่าถ้าเป็นสถานการณ์ปกติคงมีแบบนี้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ได้รับมอบหมายในการฉีดวัคซีนโควิด โดยในตอนนั้นทุกคนแตกตื่นและอยากได้วัคซีนกันมาก แต่วัคซีนกลับมาเป็นระลอก ๆ และไม่เยอะ ซึ่งโจทย์ใหญ่ในตอนนั้นสำหรับการทำงานคือจะทำยังไงให้ประชาชนในเขตพื้นที่ได้วัคซีนทีละมาก ๆ จากจำนวนวัคซีนที่มีอยู่ ในขณะที่บุคลากรฉีดมีแค่ไม่กี่คน หรือมีแค่ระดับ 10 แต่ต้องให้บริการได้หลักหมื่นต่อวัน ทางองค์กรและทีมของเราจึงมีการไปขอห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในเขตพื้นที่อำเภอบางบัวทองกับบางใหญ่ (ห้างเซ็นทรัลเวสต์เกต) ให้เขาปิดฮอลล์เพื่อใช้ฉีดวัคซีน ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นเวลาปีกว่า และสามารถฉีดวัคซีนเฉลี่ยเกือบหมื่นได้ทั้งที่มีบุคลากรน้อยมากและไม่คิดว่าจะทำได้ โดยในครั้งนั้นก็ได้ขอพยาบาลอาสา ทันตแพทย์อาสา และแพทย์อาสามาช่วยฉีด ร่วมถึงขอทีมสนับสนุน อสม. ทีมครู และอ.ต่าง ๆ มาช่วยคีย์ข้อมูล ซึ่งวันหนึ่งใช้เจ้าหน้าที่ 400-500 คน แต่มีบุคลากรสาธารณสุขแค่หลักสิบที่เหลือคือทีมงานที่อื่น สำหรับเราเองนั้นเหนื่อยมากแต่ก็ประทับใจสุด ๆ ที่ทำได้ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

“ในวิกฤติมันมีโอกาส” สำหรับตัวเองได้เรียนรู้คำนี้จริง ๆ ในวิกฤตที่มองว่าไม่รู้จะไปทางไหนแล้วมันมีโอกาส ในวิกฤตมันมีฮีโร่มันสร้างความยิ่งใหญ่ และมันก็ทำให้รู้ว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน เพราะจากการทำงานก็ได้เห็นว่ามีการช่วยเหลือตั้งแต่ระดับรากยากจนถึงการช่วยเหลือระดับรัฐบาล อย่างไรก็ตามเราก็ยอมรับว่ารู้สึกเศร้าที่ตัวเองเป็นพยาบาลที่ต้องมาเป็นพยาบาลในสถานการณ์โควิด ซึ่งงานอื่นเขาได้เลิกและหยุดงานในช่วงที่มีการระบาดกัน แต่ตนเองกลับทำงานหนักทวีคูณ แต่ในขณะเดียวกันพอได้เห็นว่าคนอื่นเห็นเราเป็นฮีโร่ช่วยเหลือคนไข้ มันก็ทำให้ความรู้สึกก่อนหน้านี้หายไป รวมถึงทำให้ประเทศสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้

ประชาชนจิตอาสา เล่าความภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยและเล่าผลกระทบของตนเองที่แม่ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง (สูงอายุและโรคอ้วน) เสียชีวิตจากโควิด รวมถึงความกลัวที่ตนเองก็มีความเสี่ยง (โรคอ้วน)

อาสาสมัครสายด่วน 1330 ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด 19

อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรม เล่าเรื่องการพัฒนาตู้เย็น และแจกจ่ายให้โรงพยาบาลในช่วงโควิด

โครงการ “FTI ช่วยชาติสู้ Covid 19” เครือข่ายสภาอุตสาหกรรม

พยาบาลร่วมจัดตั้งศูนย์พักคอยส่งแรงงานชาวลาวกลับบ้าน

ส่งแรงงานชาวลาวกลับบ้าน แรงงานชาวลาว ศูนย์พักคอย