แผนงานฯ ได้มีการหารือกับทาง สกสว. โดยทาง สกสว. ได้รวบรวม และให้ข้อมูลผลการวิจัย จำนวน 82 เรื่อง ผ่านการสืบค้นข้อมูลในฐานข้อมูลออนไลน์ของการประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการ จากแหล่งทุน (PMU) ต่าง ๆ โดยแผนงานฯ ได้มีการเข้าร่วมในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMUs) ในโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ (National Crisis Management) : กรณีแผนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและผลกระทบจากโรคโควิด 19
งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากโปรแกรมที่ 17 การแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ (National Crisis Management) : กรณีแผนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งก่อนการจัดตั้งโปรแกรมที่ 17 มีการดำเนินงานอย่างอิสระในแต่ละ PMU นั้น มีช่องว่างสำคัญของการดำเนินงานในช่วงวิกฤตที่เป็นอุสรรคสำคัญ คือ รูปแบบการดำเนินงานแบบราชการ ที่ทำให้ใช้เวลานานในการเริ่มสนับสนุนทุน
จากการจัดกลุ่มของงานวิจัยจาก WHO R&D Blueprint งานวิจัยส่วนใหญ่จัดอยู่ในประเภทที่ 9 Integrating social sciences in the outbreak response และจากข้อมูลที่ได้รับพบว่ายังขาดงานวิจัยอีกหลายงานที่มีการให้ทุน เช่น การพัฒนาชุดวินิจฉัย ยาสมุนไพร การพัฒนาวัคซีนสูตรไขว้ เป็นต้น ซึ่งงานวิจัยส่วนใหญ่จะให้ผลการวิจัยที่ตอบโจทย์ในช่วงเวลานั้น หรือ เป็นงานที่มีประโยชน์ในพื้นที่/บริบทเฉพาะ และพบว่าสถานการณ์โควิด มีพลวัตสูงทำให้การให้ทุน และการนำผลงานมาใช้ประโยชน์ยังอาจจะมีข้อจำกัดเรื่องความเท่าทันต่อสถานการณ์
กองทุนส่งเสริม ววน. ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ปีงบประมาณ 2563 – 2565 จำนวนกว่า 3,228 ล้านบาท เพื่อเพื่อรับมือกับการแก้ปัญหาวิกฤตโรคโควิด 19 อย่างทันท่วงที ส่วนของ สกสว. ได้มีการอนุมัติวงเงินงบประมาณวิจัยและนวัตกรรมให้แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) เพื่อไปดำเนินการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมในแผนงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาและผลกระทบจากโรคโควิด 19 ซึ่งก่อนการจัดตั้งโปรแกรมที่ 17 โดยสามารถสรุปรายละเอียดงบประมาณได้ดังนี้ งบประมาณจัดสรรจากกองทุนส่งเสริม ววน. สำหรับแผนงาน COVID-19 ให้แก่ PMU รวมทั้งสิ้น 1,621,311,021.60 บาท งบประมาณเพิ่มเติมจากกองทุนส่งเสริม ววน. สำหรับแผนงาน COVID-19 จำนวน 148,500,000 บาท งบประมาณโอนย้ายภายในแผนงานต่าง ๆ (SF) ของ PMU จำนวน 839,964,410.60 บาท งบประมาณโอนย้ายจากงบ FF เพื่อสมทบในแผนงาน COVID-19 จำนวน 70,875,000 บาท
กองทุนส่งเสริม ววน. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการรับมือโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ รวมถึงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศให้พร้อมรับ ปรับตัว และลดผลกระทบจากภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนายา วัคซีน และอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ รวมถึงการพัฒนาระบบสุขภาพแบบบูรณาการข้ามศาสตร์และพัฒนาสถาบันความเชี่ยวชาญด้านโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ในทุกภูมิภาค เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลควบคุมการระบาด และกระจายความช่วยเหลือตั้งแต่ระดับชุมชน กองทุนส่งเสริม ววน. เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว จึงปรับแผนด้านววน. ปี พ.ศ. 2563 – 2565 โดยบรรจุโปรแกรมที่ 17 “แก้ปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ” พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานรับงบประมาณและหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการจัดการและฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพ มีศักยภาพในการพึ่งตนเองด้านความรู้กำลังคน และโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. เพื่อสนับสนุุนการจัดการภาวะวิกฤตเร่งด่วนและการฟื้นตัวหลังภาวะวิกฤตโควิด 19 อีกทั้งประเด็นนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่อง โดยบรรจุในแผนด้าน ววน. ปี พ.ศ. 2566 - 2570 โปรแกรมที่ 10 “ยกระดับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศ ให้พร้อมรับโรคระบาดระดับชาติและโรคอุบัติใหม่”