เจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค สนามบินภูเก็ต สะท้อนแนวคิดความมั่นคงของการเตรียมความพร้อมด่าน

28/06/2024

ข้อคิด “สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นดีเสมอ” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

ก่อนที่จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิดเราก็ดำรงตำแหน่งนี้มา 13 ปี แต่พอเกิดสถานการณ์โควิด 19 ทำให้การทำงานของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากปกติที่หน่วยงานระหว่างประเทศและการเดินทางในประเทศจะให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและด้านอาชญากรรม ไม่เคยได้จัดเตรียมอะไรที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางสุขภาพ พอเกิดเชื้อไวรัสโควิดเข้ามา กลับกลายเป็นว่าประเทศไทยต้องใช้ความมั่นคงทางด้านสุขภาพมาเป็นหลักในการขับเคลื่อนและการเดินทางเข้าประเทศ ประมาณว่าประเทศไทยไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้มาก่อน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปรับกระบวนการทำงานของตนเองอย่างฉับพลัน 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงเวลาที่รัฐบาลประกาศปิดสนามบินประมาณปี พ.ศ. 2563 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

เจ้าหน้าที่ภายในสนามบิน ที่ช่วยเหลือในการปฏิบัติงาน และเครือข่ายโรงแรมที่เข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ในการดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาภายในประเทศ 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความภาคภูมิใจของเราคือ การที่เราที่ได้เป็นโมเดลให้ประเทศได้เปิดประตูบานกว้างขึ้นจาก Phuket Sandbox ถึง Thailand Reopening ที่เราสามารถคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศได้อย่างปลอดภัย ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ส่งผลให้สนามบินปิดแต่ในช่วงเวลาสั้น ๆ โดยเริ่มปิดตั้งแต่เมษายน ปี พ.ศ.2563 และเปิดไฟล์ทบินในเดือนสิงหาคม 2563 แต่ในช่วงที่สนามบินปิดเราก็ยังทำงานอยู่ตลอด เนื่องจากยังมีไฟล์ทบินที่เข้าและออกตามกรณีพิเศษของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) อยู่ เช่น ไฟล์ทอพยพคนจากต่างประเทศ ไฟล์ทบินที่ดูแลผู้ป่วยกลับประเทศ เป็นต้น ทำให้ในช่วงนั้นเราดูแลทั้งหมดตั้งแต่ระบบคัดกรองเอกสาร การอนุญาต การตรวจหาเชื้อ และความพร้อมทางด้านสุขภาพของบุคคล ซึ่งเราจะปฏิบัติตามมาตรการที่ ศบค. กำหนดอย่างเข้มงวดหรือหากมีการผ่อนคลายก็จะทำตามมาตรการนั้น โดยกำหนดให้คนเข้าประเทศคือ 1 กรกฎาคม ที่ภูเก็ต และเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน และมาผ่อนคลายประมาณเดือนมีนาคมและเมษายน พอมาถึง 30 กันยา ก็เลยผ่อนคลายลง แต่ก็มีเรื่องราวความยากลำบากเช่นกัน คือ หน่วยที่จะคัดกรองคนเข้าประเทศคือ หน่วยสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นการขอเอกสารใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทำให้เกิดความยากลำบากเพราะประเทศไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมในเรื่องการเข้าประเทศด้วยความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ทำให้บุคลากรมีไม่มากพอเนื่องจากมีอัตรากำลังเพียง 5 คน และต้องพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในทุก ๆ วัน ในช่วงต้นเราคิดว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นแม่งานที่ดีในการดูแลรับผิดชอบ แต่พอผ่านไปสักระยะหนึ่งเริ่มมีการส่งต่อภารกิจไปให้กระทรวงสาธารณสุข พอภารกิจอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขก็ถูกยกมาที่ระดับพื้นที่นั้น ๆ แต่ในกรุงเทพและดอนเมืองยังมีส่วนกลางคอยดูแล แต่พอมาภูเก็ตไม่ได้มีส่วนกลางดูแลทำให้ความพร้อมด้านอัตรากำลังคนไม่เพียงพอและยากยิ่งที่จะตอบสนองให้ทันเวลาได้ ซึ่งส่วนที่เราดูแลมีอยู่เพียง 5 คน เราต้องใช้คนทั้ง 5 คนดูแลคนทั้งหมดที่เข้าประเทศในช่วงเวลานั้นที่สนามบินภูเก็ต ซึ่งพอเราทำไปเรื่อย ๆ เราก็เริ่มหาคนมาช่วย โดยในช่วงต้นเราก็ได้นำพนักงานในสนามบินมาทำงาน เพราะเขาตกงานและเขาก็มีความสามารถเรื่องระหว่างประเทศและภาษาอยู่แล้ว ซึ่งจะมาทำงานในช่วงแรก ๆ และทางเราก็มีค่าตอบแทนให้ แต่พอมาช่วงหลัง ๆ เราก็หาเครือข่ายให้มาทำงานภายใต้กำกับการดูแลของผู้ชำนาญการโดยทางเราต้องเทรนคนก่อนที่จะมาช่วยงาน ซึ่งเป็นเครือข่ายโรงแรมเพราะในช่วงนั้นโรงแรมได้รับผลกระทบมากที่สุด ฉะนั้นเขาก็ต้องการให้คนเข้าไปใช้บริการโรงแรมเขา เขาจึงมาเป็นเครือข่ายให้เราเพราะก็ได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แม้ภารกิจยังไม่ถึงท้ายสุดที่ควรจะเป็น แต่ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของทุก ๆ ฝ่ายในเครือข่ายที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนให้กลับมาคิดว่าประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับงานหรือนโยบายในทุกภาคส่วน ทั้งยังต้องมีแผนรองรับหากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือสถานการณ์ใด ๆ เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการรับมือได้อย่างทันท่วงทีโดยเฉพาะความมั่นคงทางสุขภาพ ประกอบกับควรมีการทำงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องแบบบูรณาการเพราะเหมือนว่าแต่ละหน่วยงานก็จะโยนกันไปกันมา ประกอบกับการทำงานที่ผ่านมาได้เห็นเครือข่ายร่วมแรงร่วมใจช่วยเหลือกันในการทำงาน ส่วนตัวยังคาดการณ์อนาคตได้ว่าอาจมีบ้างที่เป็นปัญหาต้องวุ่นวายแต่สุดท้ายก็จะสำเร็จได้ 

โรคภูมิแพ้กับแพทย์ทางเลือก

โรคภูมิแพ้(hypersensitivity)โรคที่เกิดจาการตอบสนองของร่างกายที่ไวต่อสารเกิดภูมิแพ้ เช่นอาหาร ไรฝุ่น เกสรดอกไม้

ต้อหิน…ภัยเงียบที่น่ากลัว

ต้อหินเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรที่พบได้มากที่สุด มีคนไทยมากกว่า2ล้านคนเป็นต้อหิน และกว่า76ล้านคนทั่วโลกในปี2020

WHO เลือกไข้หวัดใหญ่พันธุ์ไทยปั๊ม วัคซีนป้องกัน

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ว่า จากผลการวิเคราะห์ ลำดับพันธุกรรมของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากทั่วโลก...