ศุภนิมิตร่วมมือกับ ThaiCare และ WHO พัฒนาสายด่วนช่วยแรงงานข้ามชาติ สะท้อนประเด็นการเข้าถึงบริการของแรงงานข้ามชาติ (ขายที่ดินเพื่อมารักษาอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีน)

26/06/2024

ข้อคิด “เขาไม่ได้แค่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่เขาก็อยากมาช่วยเหลือเราเหมือนกัน” 

สถานการณ์แตกต่างจากช่วงปกติอย่างไร 

โดยปกติงานที่เราทำจะเป็นงานที่ลงพื้นที่โดยเฉพาะ แต่พอในช่วงโควิด 19 เราก็ทำงานคล้าย ๆ เดิม ไม่ค่อยแตกต่างมากนัก เนื่องจากเราเพิ่งเข้ามาทำงานในช่วงที่โควิด 19 เริ่มระบาด ตอนนั้นเราก็ทำงานกับหลาย ๆ หน่วยองค์กร เช่น ไทยแคร์ ซึ่งจริง ๆ พื้นที่ที่เราดูแลจะเป็นกรุงเทพฯ ปทุมธานี แต่พอมีเครือข่ายอื่น ๆ เข้ามา ทำให้เราก็ไปช่วยเขาเป็นจิตอาสาไปช่วยตรวจตามจังหวัดที่มีคลัสเตอร์ใหญ่ ๆ 

ช่วงเวลาของเรื่องที่เล่า 

ช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด 19 เริ่มระบาดใหม่ ๆ 

มีใคร/หน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง (เช่น ใครให้ความช่วยเหลือ ไปรับบริการจากใคร ฯลฯ) 

ไทยแคร์ ที่เข้ามาเป็นเครือข่ายในช่วยเหลือและลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 

เรื่องเล่าตามความประทับใจ/ยากลำบาก 

ความประทับใจน่าจะเป็นเวลาที่เราไปลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งก็จะมีแรงงานข้ามชาติที่สื่อสารภาษาไทยได้เข้ามาช่วยเราในการสื่อสารกับคนอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นว่า เขาไม่ได้แค่ต้องการความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่เขาก็อยากมาช่วยเหลือเราเหมือนกัน ซึ่งเขาเต็มใจมาช่วยแม้จะไม่มีค่าตอบแทน แล้วอีกความประทับใจก็น่าจะเป็นเรื่องของพาร์ทเนอร์และเครือข่ายที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับไทยแคร์ที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด ซึ่งเป็นทีมที่มีคุณหมอและพยาบาลอาสามาช่วยดูแล ซึ่งทีมนี้เขาสามารถดูแลทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติได้เป็นอย่างดี โดยไม่เกี่ยวเลยว่าคนไทยต้องมาก่อนเพียงเท่านั้น เพราะเขาดูแลเท่ากันหมด ในช่วงสถานการณ์ที่ผ่านมางานที่เราทำคือ ได้รับทุนจากองค์กรอนามัยโลก (WHO) ทำเกี่ยวกับสายด่วน1422 ของกรมควบคุมโรค และก็จะมีแรงงานข้ามชาติโทรเข้ามาเพื่อขอความช่วยเหลือในช่วงโควิด โดยเรื่องที่เล่าจะเป็นช่วงที่แรงงานข้ามชาติต้องหาวัคซีนฉีดให้ตัวเอง เพื่อให้ตนเองสามารถกลับเข้าไปทำงานหรือกลับบ้านเกิดของตนเองได้ เราก็ได้รับสายมาจากอาสาคนหนึ่งว่ามีแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่สะพานใหม่ เขาไปฉีดวัคซีนมาและมีคนมาพบเขานอนสลบอยู่ที่บ้านในตอนเช้า และก็รีบส่งตัวเข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด แต่โรงพยาบาลนั้นเป็นโรงพยาบาลเอกชน ปรากฏพบว่าเขาเป็นหัวใจวายเฉียบพลับแม้ทั้งชีวิตเขาไม่เคยเป็นอะไรมาก่อน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศมาว่า หากฉีดวัคซีนหลังไม่เกิน 24 ชั่วโมง แล้วเกิดอาการอะไรขึ้นมาอาจจะได้รับการเยียวยา แต่สรุปว่าแรงงานคนนี้ก็ไม่ได้รับการเยียวยยาแต่ต้องขายที่ดินที่กัมพูชาเพื่อมาจ่ายค่ารักษาตัวเองประมาณหนึ่ง แสนกว่าบาท จนสุดท้ายแรงงานคนนั้นก็ปลอดภัย ส่งผลทำให้ทางเราก็พยายามช่วยเหลือติดต่อโรงพยาบาลนั้นเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนและการค่ารักษา เพื่อที่แรงงานจะได้รับการคุ้มครองหรือการเยียวยาอะไรบ้าง เพราะที่จริงแรงงานจะมีบัตรประกันสุขภาพของแรงงานที่เป็นบัตรสีชมพูแต่พบว่าสิทธิ์การรักษาของเขาอยู่ที่ชลบุรี โดยในช่วงเวลานั้นก็ต้องรักษาโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดก่อนไม่ว่าจะเอกชนหรือรัฐบาล แต่กลับกลายเป็นว่าทางโรงพยาบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือหรือเสนอแนะแนวทางแต่อย่างใด ทั้งยังขู่กับมาว่าเราเป็นใครและขอชื่อนามสกุล ทำให้ถือเป็นเคสที่บีบหัวใจเรามาก ส่วนความยากลำบากน่าจะเป็นเวลาเราไปลงพื้นที่หรือลงหน้างานเราจะเจอปัญหาต่าง ๆ มากมายเพราะเราต้องช่วยชีวิตคนให้ทันกับเวลา บางทีนโยบายที่ออกมามันไม่สอดคล้องกับการที่เราจะไปช่วยคนในตอนนั้น เหมือนบางทีไปช่วยหน่วยงานของภาครัฐในการตรวจโควิด 19 กับแรงงานข้ามชาติในตลาด พอตรวจไปสักพักทางภาครัฐก็ขอให้หยุดเพราะไม่มีเตียงรองรับ ซึ่งก็มีแรงงานข้ามชาติหลายคนที่รอตรวจอยู่ในเวลานั้น ทำให้เขาก็งงว่าแล้วเขามีอาการเขาจะทำยังไงต่อไปและต้องกลับไปอยู่ห้องพักของตัวเองนานเท่าไหร่ ประกอบกับสื่อความรู้ในการดูแลหรือการช่วยเหลือที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติยังมีน้อย ทำให้เขาไม่รู้ว่าเขาต้องทำตัวหรือปฏิบัติตัวอย่างไร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจมากทั้งที่เขามาอยู่ตรงหน้านี้แล้วแทนที่จะได้ตรวจแล้วเพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองเป็นอย่างไร แต่สุดท้ายเขาต้องกลับไปที่ห้องพักต่อโดยไม่ได้รับความช่วยเหลือหรือคำบอกกล่าวที่ว่าจะได้รับการตรวจอีกทีเมื่อไหร่ ประกอบกับตอนที่ภาครัฐประกาศให้ทำ Home Isolation ได้ แต่ก็ยังไม่มีการเตรียมความพร้อมมากพอว่าต้องรักษาที่ไหน ติดต่อใคร เพราะความที่ว่าเป็นแรงงานข้ามชาติทำให้มีปัญหาในเรื่องการรักษาและการติดต่อสื่อสารทางด้านภาษา 

สิ่งที่ได้เรียนรู้ 

ในสถานการณ์ที่ยากลำบากที่ทุกคนควรต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันไม่ว่าจะทั้งคนไทยหรือแรงงานข้ามชาติ แต่พบว่าก็มีคนบางส่วนที่ยังยึดผลประโยชน์เป็นหลักทำให้ผู้ที่อื่นที่ได้รับความยากลำบากก็ยิ่งทวีคูณความยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก ประกอบกับการทำงานของภาครัฐที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่ไม่มีการกระจายและทั่วถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ทั้ง ๆ ที่เขาก็เป็นมนุษย์เหมือน ๆ กับเรา 

ปอดอักเสบในเด็ก

ปอดบวม / ปอดอักเสบ (Pneumonia) การติดเชื้อในทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ เนื้อปอด หลอดลมฝอย อาการไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ได้แก่ หายใจแรง หายใจเร็ว หายใจซี่โครงบาน อกบุ๋ม หายใจปีกจมูกบาน กินได้น้อยลง ซึม หลับเยอะกว่าปกติ เหนื่อย แน่นหน้าอก

ภาวะ Long Covid กับอาการ ไอ เหนื่อยหอบ

อาการ Post Covid Syndrome หรือ Long Covid คืออาการที่ผิดปกติของร่างกายในขณะที่ติดเชื้อโควิด แม้จะครบ 1 เดือน หายดีกลับบ้านได้แล้ว แต่อาจยังหลงเหลืออาการอยู่ หากพบว่ามีอาการผิดปกตินานกว่า 2 เดือน

การฝึกหายใจและขับเสมหะ

ละนี่คือวิธีง่าย ๆ เบื้องต้นในการฝึกหายใจ สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการสีเขียวที่อยู่ระหว่างการรักษาแบบ Home isolation เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ค่ะ โดยวิธีนี้สามารถทำได้ทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยเท่านั้นนะคะ