banner for stories from the field

Welcome to the

แผนงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (Public Health Emergency) เป็น 1 ใน 6 แผนงานความร่วมมือ

ภายใต้ WHO Country Cooperation Strategy (WHO CCS) ระหว่างรัฐบาลไทยกับ

องค์การอนามัยโลก

PHE logo

รู้จักแผนงาน PHE

แผนงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (Public Health Emergency) เป็น 1 ใน 6 แผนงานความร่วมมือภายใต้ WHO Country Cooperation Strategy (WHO CCS) ระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกที่ดำเนินความร่วมมือมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545  โดยมีระยะเวลาดำเนินงานรอบละ 5 ปี นอกจากนี้ ความร่วมมือได้มีการขยายตัวโดยได้รับการสนับสนุนจากอีก 5 หน่วยงานหลักได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบกว้างขวางต่อระบบสุขภาพ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม แผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก จึงกำหนดให้งานสาธารณสุขฉุกเฉินเป็นประเด็นสุขภาพสำคัญ และสนับสนุนให้จัดตั้งแผนงานฯ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้านสาธารณสุขฉุกเฉินในทุกระดับ (ระดับประเทศถึงในระดับท้องถิ่น) และครอบคลุมตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การป้องกัน การตรวจจับ การตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน 

PHE logo
IHPP logo
WHO-logo
thaihealth logo

รู้จักสาธารณสุขฉุกเฉิน และความมั่นคงด้านสุขภาพ


1. นิยามของสาธารณสุขฉุกเฉิน และความมั่นคงด้านสุขภาพ? 

นิยามของสองคำนี้มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกัน โดย คำว่า “สาธารณสุขฉุกเฉิน” แสดงถึง ความเร่งด่วนในการต้องมีการดำเนินการและมองผ่านเลนส์ด้านสุขภาพเป็นสำคัญ เป็นคำที่ใช้โดยองค์การอนามัยโลกซึ่งปรากฎในเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น กฎอนามัยระหว่างประเทศ และแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ในขณะที่ คำว่า“ความมั่นคงด้านสุขภาพ” มีการใช้แพร่หลายโดยทั่วไปโดยหลายองค์กร ซึ่งกำหนดนิยามและตีความแตกต่างกัน แต่มักจะสะท้อนผ่านเลนส์ความมั่นคง


สาธารณสุขฉุกเฉิน หรือ Public Health Emergency กล่าวโดยเข้าใจง่าย คือ สถานการณ์ที่จะนับว่า “ฉุกเฉิน”คือ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ เกินกว่าความสามารถของระบบปกติที่จะรองรับไหว สำหรับสาเหตุของสาธารณสุขฉุกเฉินที่เรารู้จักและเข้าใจกันดี คือ โรคระบาดต่างๆ อย่างไรก็ตาม สาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดภาวะสาธารณสุขฉุกเฉิน เช่น ภัยธรรมชาติ การก่อการร้ายทางชีวภาพ การรั่วไหลของสารเคมี หรือ สารกัมมันตภาพรังสี เป็นต้น นอกจากคำนี้จะสื่อความหมายในเชิงฉุกเฉินแล้ว คำนี้ยังต้องการสื่อถึง การมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการตอบสนองต่อสถานการณ์อีกด้วย 

อีกหนึ่งคำศัพท์ ที่มีการกล่าวถึงคู่กันบ่อยครั้ง มีการใช้แพร่หลายโดยหลายองค์กร คือ ความมั่นคงด้านสุขภาพ หรือ Health Security เป็นการรวมกันของ 2 คำที่ทุกคนน่าจะทราบความหมายดีทั้งสองคำ แต่เพื่อจูนความเข้าใจอาจจะขอทบทวนนิยามของทั้ง 2 คำก่อน 

•    ความมั่นคง หมายถึง แน่นหนาและทนทาน 

•    สุขภาพ (ตามนิยามจากธรรมนูญองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 1948) หมายถึงสภาวะแห่งความสมบูรณ์ทางร่างกาย จิตใจ และสุขภาวะทางสังคม ไม่ใช่เพียงการปราศจากโรคภัยไข้เจ็บเท่านั้น 

เมื่อนำมารวมกัน ความมั่นคงด้านสุขภาพ จึงหมายถึง การดูแลความปลอดภัยทางสุขภาพให้มีความมั่นคง หรือ อีกนัยหนึ่ง ความปลอดภัยทางสุขภาพ จะเกิดขึ้นได้เมื่อมีระบบสุขภาพที่เข้มแข็งและยืดหยุ่นพร้อมรับกับภัยคุกคามต่างๆ ซึ่งระบบจะต้องสามารถป้องกัน ควบคุม ตรวจจับ และรับมือ กับสถานการณ์ที่อาจเป็นภัยคุกคามกับสุขภาพทั้งจากเชื้อโรคและภัยพิบัติต่างๆ 



2.  ทำไมเราต้องสนใจเรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพ?

มนุษย์เรามีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลา (ทั้งการเดินทาง การค้า ท่องเที่ยว ธุระต่างๆ) รวมทั้งในปัจจุบันเชื้อโรคต่างๆ ก็มีการพัฒนาตัวเองให้อยู่รอด โดยเชื้อโรคมีความเข้มแข็งและแพร่ระบาดได้รวดเร็วขึ้นและเกินกว่าครึ่งของเชื้อโรคที่แพร่มายังคนมาจากสัตว์ต่างๆ อีกทั้งในปัจจุบัน มีโอกาสที่จะมีภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อสุขภาพมากขึ้น เช่น การก่อการร้ายทางชีวภาพ การรั่วไหลของสารเคมี หรือ สารกัมมันตภาพรังสี หรือ ภัยธรรมชาติและภัยอื่นๆ ที่เกิดจากมนุษย์












ดังนั้น ขอบเขตของความมั่นคงด้านสุขภาพ จึงไม่ใช่เฉพาะการดำเนินการภายในภาคสุขภาพเท่านั้น แต่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากภาคส่วนอื่นๆ ด้วย ซึ่งบทเรียนจากโควิด 19 ทำให้เราเรียนรู้ว่าภาคส่วนอื่น เช่น เกษตรกรรม อุตสาหกรรม เอกชน ประชาสังคม รวมถึงพวกเราทุกคน ต่างมีความสำคัญและมีส่วนร่วมแก้ปัญหา ทำให้เราผ่านวิกฤตมาได้ และนอกจากความมั่นคงในประเทศแล้ว ยังต้องส่งเสริมให้ทุกประเทศมีเกราะคุ้มกันด้านสุขภาพที่เข้มแข็งด้วย ดังที่มีคำกล่าวว่า “no one is safe until everyone is safe หรือ ทุกคนจะปลอดภัย เมื่อเราทั้งหมดปลอดภัย” 

Stories from the field

กิจกรรม Story from the field เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy: WHO CCS) ภายใต้แผนงานสาธารณสุขฉุกเฉิน ในความรับผิดชอบของทีมนักวิจัยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ 

เป้าหมายหลักของแผนเพื่อพัฒนาขีดความสามารถของประเทศด้านสาธารณสุขฉุกเฉินในทุกระดับ (ระดับประเทศถึงในระดับท้องถิ่น) โดยเฉพาะในการจัดการโรคติดเชื้อ พันธกิจหลักคือการวิจัยและสร้างความรู้เชิงนโยบายและเชิงระบบ ดังนั้นส่วนที่สำคัญอย่างยิ่งคือการรวบรวมและจัดการองค์ความรู้ที่สำคัญ

เราเชื่อว่าเรื่องราวที่หลากหลายเป็นองค์ความรู้เพื่อรวบรวมและบันทึก เป็นสิ่งควรค่าแก่การแบ่งปันเพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจซึ่งกันและกัน และยังช่วยสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้น เพื่อเรียนรู้และนำสู่การพัฒนาทั้งระดับบุคคล ชุมชน ภูมิภาค และประเทศ

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ who.ccs.phe@gmail.com

คลิกเพื่อสมัคร

เรื่องราวของคุณสามารถช่วยให้ผู้อื่นรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ค้นหาแรงบันดาลใจ และทำความเข้าใจรูปแบบต่างๆ ที่โรคระบาดส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก เราสนใจฟังวิธีที่คุณหรือองค์กรของคุณรับมือกับความท้าทาย พบความหวังและแง่บวก และปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตใหม่

ในฐานะอาสาสมัครผู้เข้าร่วม จะเป็นโอกาสแบ่งปันเรื่องราวของคุณหรือองค์กรสามารถแลกเปลี่ยนโดยไม่จำเป็นต้องระบุตัวตนหรือรายละเอียดส่วนตัว เราสามารถปรับได้ตามความต้องการของคุณ เราให้เกียรติแก่ทุกประสบการณ์และมุ่งมั่นสร้างพื้นที่เป็นรับฟังความคิดเห็นของคุณ


เรื่องราวที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเผยแพร่จะได้รับค่าตอบแทน สำหรับเวลาและเรื่องราวอันมีค่า 

หากคุณสนใจแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับโควิด-19 ของคุณ กรุณากรอกรายละเอียดทางลิ้งค์ด้านล่างนี้เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัคร  

เปิดรับอาสาสมัครถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 


กระบวนการดำเนินการ

เปิดรับอาสาสมัครที่สนใจแบ่งปันเรื่องราว                                        ภายในวันที่ 7 เมษายน 2566

ตรวจสอบข้อมูลทั่วไป และติดต่อกลับ (ในกรณีเรื่องราวที่น่าสนใจ)  ภายในวันที่ 28 เมษายน 2566

บันทึกเรื่องราวและเตรียมเผยแพร่*                                                  ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566


*เรื่องราวที่ได้รับคัดเลือกเพื่อเผยแพร่จะได้รับค่าตอบแทนในขั้นตอนนี้

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

who.ccs.phe@gmail.com

©2023 PHE Thailand